รักษารากฟัน คืออะไร
การรักษารากฟันคือ การกำจัดแบคทีเรีย และเนื้อเยื่อในบริเวณคลองรากฟันที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาด และใส่ยาฆ่าเชื้อ เมื่อปราศจากการติดเชื้อ คุณหมอจะอุดคลองรากฟัน และบูรณะฟันขึ้นมาใหม่ด้วยการอุดฟัน หรือการทำครอบฟัน เพื่อให้ฟันของคุณกลับมาสวยงาม ใช้งานได้ตามปกติเช่นเดิม การรักษารากฟันมีจุดประสงค์เพื่อเก็บฟันธรรมชาติให้กับคุณ โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟัน ราคาค่ารักษารากฟันอยู่ที่ประมาณ 6,500 -12,000 บ. ขึ้นอยู่กับจำนวนของคลองรากฟัน รวมทั้งความรุนแรงของการติดเชื้อของฟันซี่นั้น
รากฟันคืออะไร
เคลือบฟัน Enamel
เคลือบฟันคือ ชั้นนอกสุดของตัวฟัน ถือเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงที่สุดของร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารต่างๆ เคลือบฟันไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงทำให้ไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ และเป็นส่วนที่ไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นมาได้ เมื่อดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีฟันของคุณจะเริ่มผุตั้งแต่ชั้นเคลือบฟันเข้าไปด้านในฟัน
เนื้อฟัน Dentine
เนื้อฟันคือ ชั้นที่อยู่ถัดลงมาจากเคลือบฟัน มีสีออกเหลืองตามธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นชั้นที่กำหนดสีของตัวฟัน เนื้อฟันมีความยืดหยุ่นจึงทำหน้าที่กระจายแรงบดเคี้ยวจากชั้นเคลือบฟันออกไป รวมทั้งยังสามารถส่งสัญญาณความรู้สึกไปยังเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทฟันได้ด้วย ทำให้เมื่อฟันผุลงไปถึงชั้นเนื้อฟันคุณอาจรู้สึกเสียวฟันได้
โพรงประสาทฟัน Pulp
โพรงประสาทฟันคือ ส่วนที่อยู่ในสุดของฟัน เป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อ เส้นประสาท และหลอดเลือดขนาดเล็กจำนวนมาก มีหน้าที่สร้างเนื้อฟัน และถือเป็นส่วนของฟันที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อโพรงประสาทฟันมีช่องติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของโพรงประสาทฟันได้
คลองรากฟัน Root Canal
คลองรากฟันคือ ส่วนที่ต่อจากโพรงประสาทฟันไปสู่ปลายรากฟัน ซึ่งเป็นที่เข้าออกของเส้นประสาท และหลอดเลือด ฟันกรามจะมีจำนวนรากฟัน และคลองรากฟันที่มากกว่าฟันซี่หน้า ทำให้การรักษารากฟันนั้นใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
สาเหตุของการติดเชื้อที่คลองรากฟัน
ภายในฟันของเราจะมีโพรงประสาทฟันซึ่งจะแตกออกเป็นช่องว่างเล็กๆ ไปตามรากฟันเรียกว่าคลองรากฟัน (Dental Pulp) โดยปกติอวัยวะในโพรงประสาทฟันจะไม่ติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอก หากเกิดช่องขึ้นมาก็จะทำให้แบคทีเรียจากภายนอกเข้ามาก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน และทำให้ต้องรักษารากฟันในที่สุด สาเหตุที่มักทำให้เกิดโรคคือ
- ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาจนผุลึกทะลุเข้าโพรงประสาทฟัน
- ฟันที่ประสบอุบัติเหตุ บิ่น ร้าว แตก ลึกถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันที่สึกมาก ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งาน การสบฟันที่ผิดปกติ หรือภาวะนอนกัดฟัน
อาการแบบไหนที่บอกว่าคุณอาจต้องรักษารากฟัน
อาการของโรคที่เกี่ยวกับคลองรากฟันจะขึ้นอยู่กับระดับของการติดเชื้อ ในระยะแรกคุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดแปล๊บขณะเคี้ยว หรือกัดฟัน
- เสียวฟันเมื่อรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้อนจัด เย็นจัด
เมื่อการติดเชื้อลุกลามมากขึ้น อาการต่างๆ มักจะหายไป เนื่องจากอวัยวะรวมทั้งเส้นประสาทในโพรงประสาทและคลองรากฟันตาย ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจผิดว่าอาการดีขึ้น และไม่ได้เข้ามาปรึกษาคุณหมอ จนกระทั่งการติดเชื้อลุกลามออกมานอกคลองรากฟัน ในระยะนี้คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- กลับมามีอาการปวดอีกครั้ง ซึ่งอาจจะปวดตลอดเวลา และปวดมากขึ้นหากเคี้ยวหรือกัดฟัน
- เหงือกบวม มีตุ่มหนอง
- หนองไหลจากเหงือก และบริเวณรอบๆ
- แก้มและขากรรไกรบวมแดง อักเสบ
- ฟันมีสีเปลี่ยนไป หรือคล้ำขึ้น
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
1. ตรวจฟันและเอ็กซเรย์
คุณหมอจะตรวจฟันของคุณโดยละเอียด และส่งคุณไปเอ็กซเรย์ฟัน เพื่อประเมินตำแหน่ง และการติดเชื้อว่ามีการลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน
2. ฉีดยาชา
ก่อนทำการรักษาคุณหมอจะฉีดยาชาให้ ทำให้คุณไม่เจ็บปวดระหว่างทำการรักษารากฟัน (ในบางกรณีหากเนื้อเยื่อในคลองรากฟันตายแล้ว คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้อาจไม่จำเป็นต้องเจ็บตัวฉีดยาชา)
3. กรอเปิดโพรงประสาทฟัน
เนื้อฟันจะถูกกรอเปิด ให้เห็นโพรงประสาทฟัน เพื่อทำการรักษาต่อ
4. ทำความสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ
คุณหมอจะกำจัดเอาแบคทีเรีย หนอง และเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออก หลังจากล้างทำความสะอาด และใส่ยาฆ่าเชื้อเรียบร้อย คุณหมอจะอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว
5. ทำการรักษาซ้ำจนกว่าจะหาย
การรักษารากฟันจะไม่เสร็จในครั้งเดียว คุณหมอจะนัดคุณเข้ามาตรวจเช็คพร้อมทำความสะอาด และใส่ยาฆ่าเชื้อซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าการติดเชื้อหมดไป โดยส่วนมากคุณต้องเข้ารับการรักษา 2-3 ครั้ง
6. บูรณะฟันขึ้นมาใหม่
เมื่อมั่นใจว่าการติดเชื้อหมดไปแล้ว คุณหมอจะบูรณะฟันของคุณด้วยการอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดถาวร หรือการทำครอบฟัน หลังจากนั้นจะนัดติดตามอาการเป็นระยะ
รักษารากฟัน เจ็บไหม?
การรักษารากฟันไม่เจ็บอย่างที่คิด จะเจ็บจริงๆ ก็ตอนคุณหมอฉีดยาชาให้ แต่ระหว่างการทำการรักษาคุณจะไม่รู้สึกเจ็บปวด คนไข้หลายคนจะบอกว่ารู้สึกตึงนิดหน่อยคล้ายกับตอนอุดฟัน
เดือยฟัน และครอบฟันคืออะไร? จำเป็นต้องทำหรือไม่?
หลังรักษารากฟัน หากเนื้อฟันของคุณเหลือน้อย การอุดแบบธรรมดาอาจทำให้ฟันกลับมาแข็งแรงไม่เท่าเดิม คุณหมออาจพิจารณาใส่เดือยฟันเข้าไปเพื่อเสริมความแข็งแรง และทำครอบฟันที่ด้านบน
รักษารากฟัน ใช้เวลากี่นาที? ใช้เวลากี่วันเสร็จ?
เวลาที่ใช้ในการรักษารากฟัน มีรายละเอียดดังนี้
- คุณต้องมาพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ และตำแหน่งของฟัน ฟันหน้า และฟันเขี้ยวมีคลองรากฟันเพียงแค่ 1-2 คลองราก ในขณะที่ฟันกรามอาจมีได้ 4-5 คลองราก จำนวนของคลองรากฟันที่มากขึ้น จะทำให้ต้องใช้เวลาในการรักษาที่มากขึ้นเช่นกัน
- เวลาที่ใช้ในการรักษาแต่ละครั้งคือประมาณ 1 ชม.
- ระยะห่างในการนัดแต่ละครั้งคือประมาณ 1-2 สัปดาห์
รักษารากฟัน ราคาเท่าไหร่
รายละเอียดการรักษา | ค่าบริการ |
---|---|
รักษารากฟัน - ฟันหน้า | 8,000 |
รักษารากฟัน - ฟันกรามน้อย | 9,000 |
รักษารากฟัน - ฟันกราม | 12,000-14,000 |
รักษารากฟันฉุกเฉินเพื่อลดอาการปวด | 1,500 |
ฟอกสีฟันในฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน | 3,000-4,500 |
*ค่าใช้จ่ายในการรักษารากฟัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จำนวนคลองรากฟัน และความรุนแรงของการอักเสบติดเชื้อ คุณสามารถตรวจสอบอัตราค่าบริการอื่นๆ ได้
รักษารากฟัน เบิกประกันสังคมได้หรือไม่
สิทธิประกันสังคม ‘ไม่ครอบคลุมการรักษารากฟัน’ ฉะนั้นคุณไม่สามารถนำค่ารักษารากฟันไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมได้ ตัวอย่าง การรักษาที่เบิกประกันสังคมได้ คือ การขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด และ ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน และแบบทั้งปาก
รักษารากฟัน หรือถอนฟันดี
เราเข้าใจว่าการรักษารากฟันมีขั้นตอนที่ใช้เวลา รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า คนไข้บางคนเลยเลือกจะถอนฟันเพื่อตัดปัญหา แต่ฟันเป็นอวัยวะสำคัญที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต นอกจากนั้นฟันธรรมชาติยังมีข้อดีที่เหนือกว่าเช่น
- มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวมากที่สุด
- รับความรู้สึกได้ดีที่สุด
- มีลักษณะสวยงามเป็นธรรมชาติ
- ติดสีได้ยาก และดูแลความสะอาดได้ง่ายและสะดวกที่สุด
การรักษารากฟันก็เหมือนการลงทุนให้กับสุขภาพในระยะยาว รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตของคุณ
รักษารากฟัน ที่ไหนดี
- เลือกคลินิกที่มีคุณหมอเฉพาะทางด้านรักษารากฟัน (Endodontist) เนื่องจากการรักษารากฟันเป็นกระบวนการที่มีความละเอียดอ่อน ต้องใช้ความชำนาญของคุณหมอเป็นอย่างมาก
- เลือกคลินิกที่คุณเดินทางสะดวก - เนื่องจากคุณต้องรับการรักษา 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย รวมทั้งต้องมาพบคุณหมอเพื่อติดตามอาการ เลือกคลินิกที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่ทำงานจะดีกว่า
- เลือกคลินิกที่มีค่าบริการเหมาะสม จริงอยู่ที่การรักษารากฟัน เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เราอยากให้คุณเปรียบเทียบราคาของแต่ละคลินิก ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่นการเดินทาง รีวิวหรือประสบการณ์ของคนไข้ที่เข้ารับบริการ รวมถึงความชำนาญของทันตแพทย์
การปฎิบัติตัวหลังรักษารากฟัน
คุณสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพียงรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อน เพื่อป้องกันคุณกัดลิ้น หรือกระพุ้งแก้มขณะเคี้ยว อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง รวมถึงเครื่องดื่มที่ร้อนจัด หรือเย็นจัด
คุณอาจมีอาการตึงๆ อยู่บ้างในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากนั้นอาการปวดควรจะหายไป หากคุณยังมีอาการปวดอยู่หลายวัน เราแนะนำให้คุณติดต่อหาเรา เพื่อทำนัดเข้ามาตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมกับคุณหมอ
คุณสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น Paracetamol หรือ Ibuprofen ได้ตามที่คุณหมอแนะนำ
มาตรวจติดตามอาการตามนัดของคุณหมอ รวมทั้งดูแลทำความสะอาดช่องปาก แปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
อยากปรึกษาเรื่องรักษารากฟัน
โปรโมชั่นอื่นๆ
เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร
เกลารากฟันเป็นการทำความสะอาดรากฟันใต้เหงือกลึก เพื่อกำจัดหินปูนและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาโรคปริทันต์และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง
ทำความเข้าใจการปักสกรูเวลาจัดฟันคืออะไร
เจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับการปักสกรูจัดฟัน ตั้งแต่ขั้นตอน อาการที่อาจเกิดขึ้น และการดูแลตัวเองหลังปักสกรู พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ใครจัดฟันต้องอ่าน เลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันอย่างไรให้เหมาะสม
ครบทุกเรื่องเกี่ยวกับแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟัน เทคนิคการเลือก ประเภท และวิธีใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีระหว่างจัดฟัน
ชวนหาคำตอบจัดฟันแล้วฟันผุเกิดจากอะไร
จัดฟันแล้วฟันผุเกิดจากเศษอาหารติดตามซอกเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดยาก หากดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี อาจทำให้มีเกิดฟันผุได้
เปิดเทคนิคการเลือกแปรงสีฟันไฟฟ้าให้ตอบโจทย์
แนะนำเคล็ดลับการเลือกแปรงสีฟันไฟฟ้าที่เหมาะกับคุณ พร้อมเปรียบเทียบประเภท คุณสมบัติ และวิธีใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น
เปิดสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วทอนซิล พร้อมแชร์วิธีรักษานิ่วทอนซิล
นิ่วทอนซิลเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาวเหลืองที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เจ็บคอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เรียนรู้วิธีป้องกันและวิธีรักษานิ่วทอนซิล เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี