ปวดฟัน

ปวดฟัน อยู่หรือเปล่า? - ทนอยู่ทำไม ทีมทันตแพทย์ของเราช่วยได้!

ปวดฟัน อยู่หรือเปล่า? คุณไม่ได้ทรมานอยู่คนเดียว เพราะอาการปวดฟันเป็นหนึ่งในปัญหาทันตกรรมที่พบได้บ่อยที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง คุณหมอจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ ซึ่งการวินิจฉัยอาการปวดฟันมีความท้าทายเพราะมีสาเหตุได้ตั้งแต่ฟันผุไปจนถึงโรคเหงือก

 

ในบทความนี้ เราจะคุยกันถึงสาเหตุ และอาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมกับอาการปวดฟัน รวมถึงการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากของคุณ นอกจากนี้คุณยังจะได้เรียนรู้วิธีป้องกันไม่ให้กลับมาปวดฟันซ้ำใหม่ในอนาคต หากคุณกำลังมองหาคำตอบว่าทำไมฟันของคุณถึงได้ปวด และคุณสามารถทำอะไรเพื่อบรรเทาอาการปวดได้บ้าง นี่คือบทความที่คุณพลาดไม่ได้

หัวข้อที่น่าสนใจ

ปวดฟัน

แก้ปวดฟันหายใน1นาที

อาการปวดฟัน เปรียบเสมือนแขกที่น่ารำคาญในบ้าน แต่อาจรุนแรงจนแม้กระทั่งคนตัวใหญ่ๆ ยังต้องร้องโอย ในอีกแง่มุมหนึ่งอาการปวดฟันก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า ฟันหรือเหงือกของคุณกำลังประสบปัญหา

 

ชนิดของโรคทางทันตกรรม รวมถึงระดับการลุกลามของโรคส่งผลทำให้ความรุนแรงของการปวดฟันไม่เท่ากัน โชคดีหน่อยคุณอาจแค่รู้สึกตุบๆ ที่บริเวณด้านหลังของฟัน ซึ่งจะเป็นเฉพาะตอนทานอะไรที่ร้อนหรือเย็นเท่านั้น อาการปวดอาจไต่ระดับอย่างรวดเร็วจนถึงขั้น เพียงแค่ฟันขยับนิดเดียวก็ปวดมากจนทนไม่ไหว ที่แย่ไปกว่านั้น อาการปวดฟันสามารถเป็นอยู่แค่ไม่กี่วินาที จนถึงหลายวัน

 

การปวดฟัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ และต้องการการตรวจในช่องปากโดยละเอียดโดยคุณหมอฟัน รวมถึงอาจต้องเอ็กซเรย์เพื่อจะทำให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุ และวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด อย่ารอให้อาการปวดเป็นมากแล้วค่อยขอความช่วยเหลือ คุณอาจต้องเจ็บตัว และเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการทำให้อาการปวดฟันนั้นหายไป

ปวดฟัน เกิดจากอะไร ?

วิธีแก้ปวดฟันกะทันหัน

1. ฟันผุ

ฟันผุเป็นสาเหตุทั่วไปของการปวดฟัน เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียในปากทำปฏิกิริยาสลายน้ำตาลในเศษอาหารที่ค้างอยู่ ทำให้เกิดกรดซึ่งสามารถกัดกร่อนเคลือบฟันจนเป็นโพรง หรือรูได้ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา โพรงเหล่านี้อาจผุลึกลงไปถึงชั้นด้านในของฟัน หรือที่เรียกว่า ‘เนื้อฟัน’ คุณอาจเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อทานอาหารร้อนหรือเย็น รวมถึงอาหารที่มีรสหวานจัดๆ

 

เมื่อการผุลุกลามต่อจนถึงชั้นเนื้อฟัน หรือโพรงประสาทของฟัน คุณอาจเจอกับอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอยู่แค่แป๊บเดียว หรือเป็นตลอดเวลาก็ได้ เมื่อถึงขั้นนี้คนส่วนใหญ่จะรีบมาหาคุณหมอฟัน ซึ่งหากคลองรากฟันมีการอักเสบติดเชื้อแล้ว คุณจำเป็นต้องได้รับการรักษารากฟัน 

ฟันผุยังสามารถก่อให้เกิดตุ่มหนองที่ปลายรากฟัน หรือบริเวณรอบๆ ฟันได้ ซึ่งเป็นการติดเชื้อรุนแรงที่นอกจากจะทำให้ปวดฟันแล้วยังทำให้เกิดอาการบวม หรือมีไข้ได้

2. เหงือกอักเสบ หรือปริทันต์อักเสบ

เหงือกอักเสบทำให้ปวดฟัน และมักเริ่มเป็นรุนแรง หรือลุกลามไปยังเนื้อเยื่อ เอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกที่รองรับฟันของคุณซึ่งจะถูกเรียกว่าโรคปริทันต์อักเสบ

 

เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียในช่องปากสะสมก่อเป็นคราบจุลินทรีย์บนฟันและเหงือก หากไม่ถูกกำจัดออกด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างเหมาะสม คราบจุลินทรีย์ก็จะแข็งตัวเป็นหินปูน ก่อให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของเหงือก เมื่อเป็นอยู่นานอาจทำให้เหงือกร่นเกิดเป็นช่อง เมื่อลุกลามจนถึงขั้นเป็นปริทันต์อักเสบ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน

 

อาการปวดฟัน ที่เกิดจากโรคเหงือกเกิดได้จากหลายปัจจัย การอักเสบทำให้เหงือกบวม มีเลือดออก และเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน การติดเชื้อในร่องเหงือกก็ทำให้ปวดได้เช่นกัน หากมีการแพร่กระจายเข้าสู่ส่วนของคลองรากฟัน นอกจากนี้เหงือกที่สุขภาพไม่ดีหรือเหงือกร่นทำให้ฟันโยก และอาจรู้สึกปวดฟันเมื่อเคี้ยวหรือกัดได้

3. ฟันแตก ฟันร้าว ฟันบิ่น

ฟันแตก บิ่น หรือหัก มักเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการกัดอะไรแข็งๆ รอยแตกอาจทำให้ฟันชั้นในที่บอบบาง หรือที่เรียกว่าเนื้อฟัน สัมผัสกับแบคทีเรีย และเศษอาหาร ทำให้ปวดฟัน และเสียวฟันได้

 

หากการแตกนั้นลึกจนเผยส่วนของเส้นประสาทในคลองรากฟันก็อาจทำให้ติดเชื้อ และก่อให้เกิดอาการปวดรุนแรงได้ ตัวเลือกในการรักษาฟันแตกคือการอุด การรักษารากฟัน และครอบฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรง

4. เศษอาหารติดแน่นในฟัน

เศษอาหารติดแน่นในร่องเหงือก หรือ Food impaction สามารถทำให้ปวดฟันได้ เกิดขึ้นเมื่อเศษอาหารที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟันออกแรงกดที่เหงือกและฟันรอบๆ ซึ่งสามารถทำให้เหงือกบวม และปวดฟันได้ หากไม่นำเศษอาหารออกในทันทีก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อที่เหงือกตามมา
 
ภาวะเศษอาหารติดแน่นมักเกิดบ่อยขึ้นหากคุณมีฟันที่ซ้อนเก หรือเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างฟัน การ จัดฟัน สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นโรคเหงือกด้วยเช่นกัน

5. ฟันคุด

ฟันคุดอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการปวดฟัน ฟันคุดเป็นฟันกรามซี่ที่สามซึ่งจะขึ้นอยู่ทางด้านในสุดของปาก โดยปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ถึงวัยยี่สิบต้นๆ ในบางครั้งช่องปากอาจมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันกรามเหล่านี้โผล่ขึ้นมาอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการดันไปยังฟันซี่ข้างเคียง เหงือกเกิดอาการบวม อักเสบ และติดเชื้อในเนื้อเยื่อรอบๆ ฟัน ซึ่งนำไปสู่อาการปวดฟันได้ ความเจ็บปวดอาจเกิดเป็นพัก หรือเป็นๆ หายๆ สามารถรู้สึกได้ที่หลังปาก หรือแม้แต่ในหู

 

ในบางกรณีฟันคุดสามารถทำให้ฟันข้างเคียงได้รับความเสียหาย นำไปสู่ความเจ็บปวด และความรู้สึกไม่สบายเพิ่มเติม การรักษาฟันคุดที่ได้ผลคือการถอน หรือผ่าฟันคุด ซึ่งสามารถทำเพื่อป้องกัน หรือเมื่อเกิดการอักเสบและปวดฟันเกิดขึ้น

6. นอนกัดฟัน

ภาวะนอนกัดฟัน หรือ Bruxism มักเกิดขึ้นขณะหลับ หรือระหว่างรู้สึกเครียดเป็นกังวล แรงบดเคี้ยวที่รุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถทำให้ฟันสึก หรือแตกร้าวได้ นำไปสู่อาการเสียวฟัน และปวดฟันได้ คุณอาจรู้สึกเจ็บที่ฟัน ใบหน้า หรือขากรรไกร และอาการอาจแย่ลงในตอนเช้าเมื่อตื่นนอน 

หากไม่ได้รับการรักษา จะก่อให้เกิดโรคของข้อต่อขากรรไกร (TMJ – Temporomandibular joint) ซึ่งนอกจากปวดฟัน แล้วอาจทำให้เกิดปวดศีรษะเรื้อรัง โดยเฉพาะตรงบริเวณหน้าผาก และกกหู 

การรักษาภาวะนอนกัดฟันคือการใส่เฝือกสบฟัน (Night guard, Occlusal splint) ขณะนอนหลับ และรักษาอาการเครียดวิตกกังวลด้วยเทคนิคคลายเครียด หรือยาทางจิตเวช ในกรณีที่ฟันสึกรุนแรง อาจจำเป็นต้องบูรณะฟัน เช่น อุดฟัน หรือครอบฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่เกิดความเสียหาย

7. โพรงไซนัสอักเสบ

โพรงไซนัสอักเสบ หรือ sinusitis ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับช่องปาก ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดฟันได้เช่นกัน เนื่องจากโพรงไซนัสในแก้มทั้งสองข้างของจมูกอยู่ใกล้กับรากฟันบน โดยเฉพาะฟันซี่หลังๆ เมื่อไซนัสอักเสบ หรือติดเชื้อ ความดันที่สะสมในบริเวณนี้สามารถก่อให้เกิดอาการปวดฟันได้ ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติในช่องปาก

อาการอื่นๆ ของโพรงไซนัสอักเสบคือ ปวดศีรษะ ตึงเจ็บบริเวณโหนกแก้ม น้ำมูกไหลเรื้อรัง การรักษาโพรงไซนัสอักเสบคือการใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อจำกัดการติดเชื้อและการอักเสบ คุณหมอฟันมักปรึกษาคุณหมอ หู คอ จมูก ให้เข้ามาร่วมดูแลคุณด้วย

8. ปลายรากฟันอักเสบ

ปลายรากฟันอักเสบ หรือ Pulpitis เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของอาการปวดฟัน เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อในฟันที่เรียกว่า pulp ซึ่งมีหลอดเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยง เกิดการอักเสบติดเชื้อ มักเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาทันตกรรมอื่นๆ เช่น ฟันผุลึก ฟันที่แตก บิ่น ร้าวจากอุบัติเหตุ หรือภาวะนอนกัดฟัน
 
อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นมักรุนแรง ในบางกรณีอาจปวดมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน นอกจากนั้นฟันยังไวต่ออุณหภูมิร้อนหรือเย็นมาก อาจมีบวมรอบๆ ฟันที่ได้รับผลกระทบ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำไปสู่ตุ่มหนองรอบปลายรากฟัน ซึ่งอาจทำให้อาการปวดฟันแย่ลงไปอีก และถึงขั้นสูญเสียฟันได้
 
การรักษารากฟันคือวิธีการกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ ติดเชื้อออกไป และแทนที่ด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน อย่างไรก็ตามหากการติดเชื้อรุนแรงมาก คุณหมออาจจำเป็นต้องถอนฟัน และทดแทนฟันด้วยวิธีอื่นๆ เช่น รากฟันเทียม สะพานฟัน หรือฟันปลอม ตามความเหมาะสม

9. สาเหตุอื่นๆ

ยังมีสาเหตุอีกมากมายที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดฟัน หรือปวดในช่องปากและเข้าใจผิดว่าเป็นการปวดฟัน อย่างเช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่กรามได้ ก้อนเนื้อ หรือมะเร็งในช่องปากก็อาจทำให้เกิดอาการปวดในช่องปากได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีโรคทางระบบอื่นๆ ที่สามารถทำให้ปวดฟันได้ อย่างเช่น การอักเสบของเส้นประสาทบริเวณหน้า (Trigeminal neuralgia) โรคปวดศีรษะชนิด Cluster การขาดวิตามินบางชนิด การตั้งครรภ์ ภาวะติดสุราเรื้อรัง กลุ่มโรคความผิดปกติเกี่ยวกับการกินเช่น Bulimia

ลักษณะของอาการปวดฟัน

อาการปวดฟัน สามารถถูกบรรยายออกมาได้หลายรูปแบบ การที่คุณสามารถให้ประวัติลักษณะของอาการปวดฟันที่เกิดขึ้น จะมีส่วนช่วยทำให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยสาเหตุของการปวดฟันได้แม่นยำ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ปวดฟันแบบตึงๆ อยู่ตลอดเวลา

ปวดฟันแบบตึงๆ เหมือนมีใครมากดลงไปที่ฟันนั้นเป็นลักษณะอาการปวดที่พบได้บ่อยมากที่สุด มักพบในกรณีที่มีเศษอาหารมาติดอยู่ระหว่างซอกฟัน นอกจากนี้ยังอาจเป็นสัญญาณของตุ่มหนองที่ปลายรากฟัน หรือภาวะนอนกัดฟัน (Bruxism) ได้อีกด้วย หากคุณแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันแล้วอาการยังไม่หายไปใน 2-3 วัน คุณควรเข้ามาพบคุณหมอ

ปวดฟันแปล๊บๆ จี๊ดๆ

ปวดฟันแบบแปล๊บๆ เหมือนมีใครเอาอะไรมาแทง หรือปวดร้าว มักเป็นอาการที่ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่รีบมาพบคุณหมอเนื่องจากมักจะปวดมาก ความผิดปกติส่วนใหญ่มักอยู่ที่ผิวฟันของคุณ เช่น ฟันแตกหรือร้าว ครอบฟันหลวม ฟันสึกรุนแรง หรือปลายรากฟันอักเสบ

ปวดฟัน เมื่อถูกความร้อน หรือความเย็น

อาการเสียวฟันโดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น มักสัมพันธ์กับเคลือบฟันที่สึกหรอจนถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการทำความสะอาดช่องปาก และใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารลดอาการเสียวฟัน โรคที่มักทำให้เกิดอาการเสียวฟันคือ โรคเหงือกอักเสบ เหงือกร่นจนเห็นผิวรากฟัน คอฟันสึก ฟันผุลึกถึงเนื้อฟัน

ปวดฟันแบบตุบๆ

ปวดฟันแบบตุบๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ และมักสัมพันธ์กับการอักเสบติดเชื้อ เช่น ตุ่มหนองที่ปลายรากฟันหรือบริเวณรอบตัวฟัน เหงือกอักเสบ ฟันคุดที่มีเหงือกอักเสบร่วมด้วย ฟันผุ หรือแตกร้าว วัสดุอุดฟันหรือครอบฟันได้รับความเสียหาย อาการปวดแบบนี้เป็นลักษณะที่รุนแรงและควรต้องมาตรวจกับคุณหมอโดยเร็ว โดยเฉพาะหากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เหงือกเปลี่ยนสี หรือเลือดออก ฟันโยก

วิธีแก้ปวดฟัน

ปวดฟัน เป็นสัญญาณของปัญหาทางทันตกรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณควรเข้ามาพบคุณหมอ เพื่อซักประวัติ และตรวจช่องปากอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากคุณไม่สามารถไปพบคุณหมอได้ในทันที หรือกำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอถึงวันนัด นี่คือสิ่งที่คุณสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน
 
  • บ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ – น้ำเกลือมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้ออ่อนๆ แถมยังสามารถกำจัดเศษอาหารชิ้นใหญ่ออกไปได้บางส่วน คุณสามารถผสมเกลือครึ่งช้อนชาลงในน้ำอุ่น 1 แก้ว กลั้วปากทุก 1-2 ชั่วโมงได้
  • ประคบเย็น – อุณหภูมิที่เย็นจัดสามารถทำให้เส้นเลือดในบริเวณที่ปวดหดตัว และทำให้การสื่อประสาทช้าลง จึงสามารถลดอาการปวดฟัน รวมถึงอาการบวมลงได้ ใช้น้ำแข็งใส่ถุง หรือเจลเย็น ห่อด้วยผ้าบางๆ ประคบลงบนบริเวณที่ต้องการประมาณ 15-20 นาที คุณสามารถทำซ้ำใหม่ได้ทุกชั่วโมงหากต้องการ
  • รับประทานยาแก้ปวด – คุณสามารถซื้อยาแก้ปวด เช่น paracetamol หรือ ibuprofen จากร้านขายยา หรือซูเปอร์มาร์เก็ต มารับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ กรุณาตรวจสอบประวัติแพ้ยา รวมถึงข้อห้ามในการรับประทานยากับเภสัชกรก่อนซื้อมารับประทาน
  • สมุนไพรพื้นบ้าน – ถือเป็นวิธีแก้ปวดฟันแบบโบราณ สมุนไพรอย่างเช่น กานพลู กระเทียม ว่านหางจระเข้ ใบชา และอื่นๆ ได้ถูกนำมาบรรเทาอาการปวดฟันมาเป็นร้อยๆ ปี
 
อย่าลืมว่าวิธีการด้านบนเป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้แก้ที่สาเหตุโดยตรง คุณยังควรเข้ามาพบคุณหมออยู่ดี

วิธีดูแลสุขภาพช่องปาก ป้องกันอาการปวดฟัน

วิธีแก้ปวดฟันฟันเป็นรูปวดมาก
หนึ่งในการป้องกันการปวดฟันที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขอนามัยช่องปากดีเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา นี่คือวิธีต่างๆ ที่คุณสามารถทำตามเพื่อป้องกันอาการปวดฟันได้
 
  • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ใช้เวลาแปรงอย่างน้อย 2 นาที
  • เลือกแปรงสีฟันแบบขนอ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสม
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือรสเปรี้ยวมากๆ เพราะกรดสามารถทำลายเคลือบฟันของคุณได้
  • ดื่มน้ำมากๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น และชะล้างเศษอาหารที่ตกค้างอยู่
  • อย่าลืมทำความสะอาดลิ้นของคุณ ใช้ที่ขูดลิ้น หรือเแปรงสีฟันเพื่อกำจัดแบคทีเรียอย่างอ่อนโยน และทำให้ลมหายใจสดชื่นมากขึ้น
  • งดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เหงือกอักเสบ สาเหตุสำคัญของอาการปวดฟัน
  • ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพ และขูดหินปูนทุก 6 เดือน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปวดฟัน

1. ปวดฟันแบบไหนควรไปพบคุณหมอ ?

เมื่อปวดฟันคุณควรไปพบคุณหมอทุกกรณี อย่างไรก็ตามหากคุณมีอาการเหล่านี้แสดงว่าอาการค่อนข้างมาก และเราแนะนำให้คุณรีบมาพบคุณหมอโดยเร็ว

  • อาการปวดเป็นอยู่นานเกิน 2 วัน
  • ยาแก้ปวดไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้
  • มีไข้ เจ็บขณะเคี้ยว เหงือกบวมแดง ได้รับรสผิดปกติ
  • แก้ม หรือกรามบวม

2. ปวดฟันสามารถหายได้เองหรือไม่ ?

อาการปวดฟันจะหายไปเมื่อสาเหตุที่แท้จริงถูกกำจัดออกไป ตัวอย่างเช่นการปวดหรือเสียวฟันจะหายไปทันทีที่คุณรับประทานอาหารที่เย็นหรือหวานมากๆ เสร็จ ในทำนองเดียวกัน หากมีเศษอาหารมาติดอยู่ในระหว่างซี่ฟันของคุณ อาการปวดจะหายไปทันทีเมื่อคุณกำจัดเศษอาหารออก นอกจากนี้อาการปวดฟันที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้ออาจดีขึ้นหลังจากได้รับประทานยาแก้ปวด

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโรคเป็นมากขึ้น คุณต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมจึงจะทำให้อาการปวดหายไปได้

3. ทำไมฟันชอบปวดตอนกลางคืน ?

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้อาการปวดฟันรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน เช่น ปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้นจากตำแหน่งของศีระษะในท่านอน ตอนกลางคืนยังมีสิ่งรบกวนน้อยลง ทำให้คุณรู้สึกว่าปวดมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วความรุนแรงของโรคในตอนกลางวัน และกลางคืนอาจจะเท่ากัน นอกจากนั้นถ้าคุณมีภาวะนอนกัดฟัน อาการปวดก็จะมากขึ้นในเวลากลางคืน

4. M16 คืออะไร แก้ปวดฟันได้จริงหรือไม่ ?

M16 เป็นยาที่มีส่วนผสมของการบูร และยาชา โดยโฆษณาว่าสามารถทำมาชุบสำลีและอุดไปในรูปตรงฟันที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตามการรักษาอาการปวดฟันที่ถูกวิธีคือการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อทำการรักษา คุณหมอไม่เห็นด้วยในการใช้ M16 บรรเทาอาหารปวดฟันเพียงอย่างเดียว คุณควรเข้ารับการตรวจรักษาในคลินิกเพื่อกำจัดสาเหตุของอาการปวดฟันอย่างถาวร

5. ยาชุดแก้ปวดฟันที่ขายกันในท้องตลาด สามารถแก้ปวดได้หรือไม่ ?

ยาแก้ปวดที่ขายกันในร้านค้าออนไลน์ หรือในสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่คลินิก รพ. หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกร อาจมีส่วนผสมที่หลากหลาย รวมทั้งอาจเป็นอันตรายได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือยาแก้ปวดไม่ช่วยแก้ไขสาเหตุของอาการปวดฟัน เราจึงไม่แนะนำให้ซื้อยาแบบนี้มาทา หรือรับประทาน การเข้ามาพบคุณหมอฟัน จะสามารถช่วยแก้ไขทั้งสาเหตุ และอาการปวดฟันให้คุณได้อย่างถาวร

รู้สึกปวดฟัน รักษาที่ Smile Seasons

คนไข้ที่ปวดฟันทุกท่าน โปรดทราบ! หากคุณต้องรับมือกับอาการปวดฟันที่ไม่หายสักที ถึงเวลาที่ต้องเข้ามาพบคุณหมอแล้ว ปวดฟัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งก็ตรงไปตรงมาให้การวินิจฉัยง่าย แต่หลายครั้งก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ที่คลินิกทันตกรรม Smile Seasons เราเข้าใจว่าอาการปวดฟันรบกวนชีวิตประจำวันของคุณมากแค่ไหน และเราพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณ

ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราประกอบได้ด้วยคุณหมอฟันเฉพาะทางจากทุกสาขาวิชา เราทุ่มเทเพื่อดูแลคุณด้วยประสบการณ์ และความเอาใจใส่ เรามีเครื่องไม้เครื่องมือที่สะอาดทันสมัย สามารถให้การวินิจฉัย และรักษาอาการปวดฟันของคุณให้หายขาด บอกลาอาการปวดที่น่ารำคาญ เรารู้ว่ารอยยิ้มที่มีสุขภาพดี คือรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความสุข อย่าปล่อยให้อาการปวดฟันรั้งคุณเอาไว้ ติดต่อเราวันนี้ และให้เราช่วยให้คุณกลับมายิ้มได้อีกครั้ง โทร 02-114-3274 หรือ LINE @smileseasons.dc

อ้างอิง

บทความโดย

Picture of ทพญ.จิตพิชญา วิมลไชยจิต

ทพญ.จิตพิชญา วิมลไชยจิต

ทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต (เกียรตินิยมอันดับ 1)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้