ร้อนในเกิดจากอะไร? แผลในช่องปากที่ควรระวัง
ร้อนใน อาการที่หลายคนมักจะเป็นบ่อย ๆ และสร้างความทรมานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะก่อให้เกิดความเจ็บปวดในช่องปาก ซึ่งบางคนอาจแทบกินอะไรไม่ได้เลย หรือหากกินได้ก็ทานได้ไม่อร่อยนัก แถมยังเจ็บทุกครั้งที่ต้องพูดหรือขยับปาก
วันนี้ Smile Seasons จะพาคุณไปทำความเข้าใจกันว่าร้อนในเกิดจากอะไร? มีวิธีการดูแลรักษา และป้องกันได้อย่างไรบ้าง? เพื่อให้คุณรักษาแผลร้อนในนั้นได้อย่างรวดเร็วและรับมือได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
แผลร้อนในคืออะไร
ร้อนใน หรือ Aphthous Ulcer (Canker sore) เป็นแผลในช่องปากซึ่งมีฐานตื้นสีขาวหรือออกเหลือง และมีสีแดงของการอักเสบรอบๆ มักพบที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือบริเวณเหงือก ร้อนในเป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก และไม่ได้เป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่การบาดเจ็บเช่นการพลาดกัดไปโดน ความเครียด อาหารหรือผลไม้บางชนิด รวมถึงโรคประจำตัวบางอย่างอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดร้อนในได้ ร้อนในโดยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
ประเภทของแผลร้อนใน
แผลร้อนในมี 3 ประเภทที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ซึ่งมีประเภทไหนบ้าง? และมีลักษณะความรุนแรงของโรคแตกต่างกันอย่างไร? เราจะพาคุณไปดูกัน
- แผลร้อนในขนาดเล็ก เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะทั่วไปของแผลชนิดนี้คือ เป็นแผลตื้น มีรูปร่างกลมหรือรูปไข่ และมีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร แผลจะเป็นสีขาวหรือเหลือง และมีขอบเป็นวงสีแดงรอบ ๆ ซึ่งลักษณะแผลมักจะเรียบ ไม่นูน หรืออาจมีอาการบวมเล็กน้อยที่ขอบ เมื่อใกล้หาย พื้นแผลจะเปลี่ยนเป็นสีเทา มักมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และแผลสามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน
- แผลร้อนในขนาดใหญ่ พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมีขนาดเกิน 1 เซนติเมตรขึ้นไป และมีความลึกกว่าแผลขนาดเล็ก บริเวณขอบแผลจะมีอาการบวมและทำให้รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงได้ ซึ่งแผลร้อนในประเภทนี้ จะใช้เวลาในการรักษาที่นานกว่า บางคนอาจเป็นเดือนเลยทีเดียว
แผลร้อนในที่มีความคล้ายเริม มักจะพบได้น้อยที่สุด แต่มีความรุนแรงมากกว่าประเภทอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะของแผลร้อนในประเภทนี้คือ ในระยะเริ่มต้นจะปรากฏเป็นตุ่มใสขนาดเล็กหลายตุ่ม โดยแต่ละตุ่มมีขนาดประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ต่อมาตุ่มเหล่านี้จะแตกและรวมตัวกัน กลายเป็นแผลขนาดใหญ่เพียงแผลเดียว ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแผลร้อนในใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนในชนิดนี้จะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง และอาจใช้เวลานานถึง 2 เดือนกว่าจะหาย
อาการของแผลร้อนใน
สำหรับลักษณะอาการของแผลร้อนในก็มีดังนี้
- แผลร้อนในมักมีขนาดเล็กและตื้น โดยพื้นแผลจะมีสีเหลืองอ่อนหรือขาวนวล ล้อมรอบด้วยขอบสีแดง ซึ่งเป็นลักษณะที่สังเกตได้ชัดเจน
- ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเมื่อแผลถูกสัมผัส เช่น ขณะรับประทานอาหาร พูดคุย หรือนอนทับบริเวณที่เป็นแผล
- ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีความรู้สึกปวดร้าวหรือบวมร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดร้อนใน
เรายังไม่ทราบสาเหตุ และกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัดของร้อนใน แต่อาจสรุปปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดร้อนในได้ดังนี้
- การบาดเจ็บต่อเยื่อบุช่องปาก เช่น การกัดพลาด การแปรงฟันที่รุนแรงเกินไป หรือการใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งมากผิดปกติ ผลข้างเคียงจากการทำฟัน
- ความเครียด – สามารถกดภูมิคุ้มกันของคุณได้ หากพบร่วมกับการพักผ่อนน้อยก็จะยิ่งทำให้เป็นร้อนในได้ง่ายขึ้น
- การขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน บี 12 วิตามินซี กรดโฟลิก และธาตุเหล็ก
- อาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดร้อนในได้ เช่น เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย และผลไม้รสเปรี้ยว อาหารที่เผ็ดมาก หรือร้อนมาก ก็อาจทำให้เป็นร้อนใน หรืออาการร้อนในหนักมากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน
- โรคประจำตัวที่อาจทำให้มีร้อนในได้ เช่น โรคทางภูมิคุ้มกันบกพร่อง SLE, HIV ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงบริเวณปาก และลำคอ โรคทางระบบทางเดินอาหารเช่น Crohn’s Disease
- กรรมพันธุ์ – ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ที่ยีนส์จะมีส่วนทำให้เป็นร้อนในบ่อยขึ้นกว่าปกติ
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta-Blockers
แผลร้อนใน หรือมะเร็ง แยกกันอย่างไร
แผลร้อนในเป็นโรคที่ไม่อันตราย ไม่ติดต่อระหว่างกัน และเกือบทั้งหมดหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามแผลในปาก ที่เราเข้าใจว่าเป็นร้อนในนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่อันตรายได้ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัส การแพ้ยาชนิดรุนแรง หรือโรคมะเร็งในช่องปาก คุณหมอมาแนะนำข้อสังเกต สำหรับแผลในปากที่ควรเฝ้าระวัง
- แผลร้อนในที่มีขนาดใหญ่ – แผลร้อนในทั่วไปมักมีขนาดไม่เกิด 1 เซนติเมตร หากแผลมีขนาดใหญ่ หรือมีการขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ เช่น Behcet’s disease หรือ Reiter’s syndrome
- แผลร้อนในเรื้อรัง – แผลร้อนในส่วนมากมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ หากแผลเป็นเรื้อรังอยู่นาน หรือเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆ อาจเป็นอาการของปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น Celiac disease หรือ HIV infection เป็นต้น
- แผลร้อนในที่มีจำนวนมาก – แผลร้อนในส่วนมากจะมีจำนวน 1-2 แผล หากมีจำนวนมากกว่านั้น หรือไปขึ้นในบริเวณที่พบไม่บ่อย เช่น เพดานปาก หรือลำคอด้านใน
- แผลร้อนในที่เจ็บมาก – หากคุณมีอาการปวดมาก หรืออาการไม่ตอบสนองต่อยาทาต่างๆ อาจเป็นข้อควรระวังว่าอาจมีปัญหาที่รุนแรงเกิดขึ้นได้
- แผลร้อนในที่มีลักษณะผิดไปจากปกติ – ขอบของแผลร้อนในมันเป็นสีแดง ขอบเรียบ และไม่นูนขึ้นมา หากแผลมีสีผิดปกติ นูน มีก้อน หรือขอบแผลมีลักษณะแข็ง ขอบไม่เรียบ แสดงว่ามีความผิดปกติ
- แผลร้อนในที่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย – ร้อนในส่วนใหญ่มักไม่มีอาการทางระบบร่วมด้วย อาการที่อาจเกิดร่วมได้คือ ไข้สูง มีผื่นขึ้นที่บริเวณอื่น มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปวดท้อง มีอาการซีด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอและใบหน้าโต
หากคุณมีอาการดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าแผลในปากของคุณ อาจไม่ใช่แผลร้อนใน และอาจมีสาเหตุที่อันตราย หรือรุนแรงกว่าที่คิด คุณจึงควรรีบเข้ามาปรึกษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที
รวมวิธีรักษาและป้องกันการเป็นร้อนใน
แผลร้อนในแม้จะหายได้เอง แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งบทความนี้ก็มีวิธีการรักษาพร้อมป้องกันแผลร้อนในมาแนะนำกันด้วย ดังนี้
1. วิธีรักษา
หากมีแผลร้อนใน เราสามารถรักษาอาการร้อนในได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำความสะอาด และลดแบคทีเรียในช่องปาก
- อมน้ำแข็งก้อนเล็กหรือดื่มน้ำเย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ หากมีอาการปวดมาก อาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
- ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เช่น ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone Acetonide) หรือฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Fluocinolone acetonide) ป้ายบริเวณแผล
- หากมีอาการเจ็บปวดมาก คุณหมออาจแนะนำยาชาชนิดทา เช่น Lidocaine ในรูปแบบของเจล หรือขี้ผึ้ง ทาบางๆ เวลาปวด หรือ 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร หรือแปรงฟัน
- แผ่นแปะร้อนใน ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ มีหลายยี่ห้อ มักผสมยาชาเฉพาะที่ และสารต้านการอักเสบ ใช้สะดวก และได้ผลดี
- ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และสังกะสี
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจระคายแผล เช่น อาหารแข็ง เผ็ด เปรี้ยว และร้อนจัด แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนและเย็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- การจัดการความเครียดด้วยการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็มีส่วนช่วยในการรักษาแผล รวมถึงการรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดี เช่น การแปรงฟันอย่างอ่อนโยนและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
2. วิธีป้องกัน
จริง ๆ แล้วแผลร้อนใน สามารถป้องกันได้ไม่ยาก ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ในแต่ละมื้อ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และได้รับสารอาหารรวมถึงวิตามินที่ครบถ้วน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นร้อนในได้ เช่น อาหารรสจัด ร้อนจัด เย็นจัด หลีกเลี่ยงผลไม้เช่น สับปะรด ลิ้นจี่ หรือผลไม้รสเปรี้ยว
- เคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ มีสติขณะรับประทาน และไม่รีบร้อนจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บในช่องปาก
- นอนหลับให้เพียงพอ รักษาสภาพจิตใจให้แจ่มใส ลดความเครียดและความวิตกกังวล
- หมั่นออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ผู้ที่อยู่ในภูมิอากาศ ร้อนมาก หนาวมาก อากาศแห้ง ออกกำลังกายหนัก เล่นกีฬา อาจต้องการปริมาณน้ำต่อวันที่มากขึ้นกว่าปกติ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจช่องปาก และเข้ารับการขูดหินปูนกับคุณหมอทุก 6 เดือน
สรุปบทความ
ร้อนในเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย แถมยังสามารถสร้างความเจ็บปวด และรำคาญให้กับคุณได้ คุณสามารถรักษาตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งซื้อยา หรือใช้แผ่นแปะร้อนในมาช่วยบรรเทาอาการได้ สำหรับใครกังวล ไม่แน่ใจว่าแผลในปากของคุณนั้นเป็นร้อนในจริงหรือเปล่า เราขอแนะนำให้รีบมาพบกับทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรม เพื่อตรวจเช็ค และเคลียร์ช่องปากให้มีสุขภาพดี Smile Seasons มีคุณหมอเฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญและสามารถตรวจวินิจฉัย รวมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับคุณได้
หากมีปัญหาทางช่องปาก ให้นึกถึง Smile Seasons สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับคลินิกก่อนได้ ที่หน้าสาขาทั้งหมด 8 สาขาใกล้บ้าน ทั่วกรุงเทพ ได้แก่
- สนามเป้า/อนุสาวรีย์ชัย
- อารีย์ (ตึก IBM)
- อโศกทาวเวอร์
- เมเจอร์รัชโยธิน
- ท่าพระ
- BTS อ่อนนุช
- Silom Complex
- Central Westville
และสอบถามทางไลน์ได้ที่ @smileseasons.dc หรือโทร. 02-114-3274