เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร
การเกลารากฟัน หรือ Root Planing เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่พบได้บ่อย และสำคัญมาก มักเป็นหนึ่งในทางเลือกแรกของการรักษา โรคปริทันต์ และ โรคเหงือกอักเสบที่รุนแรง หากคุณหนึ่งในคนที่ได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ให้เกลารากฟัน ในบทความนี้คุณหมอจะมาอธิบาย ข้อบ่งชี้ ขั้นตอน ข้อควรระวัง และการดูแลตัวเองหลังเกลารากฟัน
เกลารากฟันคืออะไร
เกลารากฟัน (Root Planing) เป็นหัตถการทางทันตกรรมที่มุ่งเน้นการกำจัดคราบหินปูนและจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บริเวณใต้เหงือก ซึ่งแตกต่างจากการขูดหินปูนโดยทั่วไปที่เน้นการกำจัดหินปูนที่อยู่เหนือเหงือก การเกลารากฟันจะช่วยลดการอักเสบและติดเชื้อของเหงือกรวมถึงเนื้อเยื่อปริทันต์ที่ล้อมรอบฟัน ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ กลับมามีสุขภาพแข็งแรงได้ดังปกติ การเกลารากฟันเป็นหัตถการทางทันตกรรมที่มีความซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ มักทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านปริทันต์ (Periodontist)
การเกลารากฟันกับการขูดหินปูนต่างกันอย่างไร
แม้ว่าทั้งการขูดหินปูนและเกลารากฟันจะเป็นการกำจัดคราบหินปูน แต่มีความแตกต่างที่สำคัญคือ การขูดหินปูนจะทำเฉพาะบริเวณตัวฟันและใต้เหงือกตื้น ๆ โดยไม่ต้องทำการฉีดยาชา ใช้เวลาไม่นาน และทำเสร็จได้ในครั้งเดียว แต่การเกลารากฟันจะทำความสะอาด ขจัดคราบหินปูนที่อยู่ลึกลงไปถึงรากฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชา ใช้เครื่องมือพิเศษเกลารากฟัน เพื่อที่จะได้ทำอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่า ทำให้ใช้เวลานานกว่า มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และอาจต้องแบ่งทำหลายครั้ง
ใครบ้างที่ควรเกลารากฟัน
ผู้ที่ควรรับการเกลารากฟันมักเป็นผู้ที่มีปัญหาโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) หรือมีร่องลึกปริทันต์เกิน 3 มิลลิเมตร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- ผู้ที่ไม่ได้ขูดหินปูนมานานเกิน 6 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติโรคเบาหวาน
- ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคปริทันต์
เปิดขั้นตอนการเกลารากฟัน
การเกลารากฟันเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างละเอียดและระมัดระวัง โดยแต่ละขั้นตอนมีความสำคัญและต้องทำตามลำดับอย่างเหมาะสม ซึ่งขั้นตอนหลัก ๆ มีดังนี้
ตรวจช่องปาก และเอกซเรย์
ขั้นตอนแรกในการเกลารากฟันคือการเอกซเรย์ช่องปากร่วมกับการตรวจช่องปากอย่างละเอียด เพื่อทำการประเมินสภาพกระดูกรองรับรากฟัน ความลึกของร่องปริทันต์ และระดับความรุนแรงของโรค โดยทันตแพทย์จะใช้ข้อมูลนี้วางแผนการรักษาและกำหนดจำนวนครั้งที่ต้องทำการเกลารากฟัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด
ขูดหินปูน
ก่อนเกลารากฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชา และทำการขูดหินปูนบริเวณตัวฟันและขอบเหงือกให้สะอาดก่อน โดยใช้เครื่องขูดหินปูนอัลตราโซนิกและเครื่องมือขูดด้วยมือ เพื่อกำจัดคราบหินปูนส่วนที่มองเห็นและเข้าถึงได้ง่าย ก่อนที่จะเริ่มเกลารากฟันต่อไป
เกลารากฟัน
เมื่อขูดหินปูนเรียบร้อยแล้วคุณหมอจะใช้เครื่องมือพิเศษเกลารากฟันใต้เหงือกให้เรียบ กำจัดคราบหินปูนและเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก ขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างละเอียดและอาจต้องแบ่งทำหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าทำความสะอาดได้ทั่วถึง
ผ่าตัดเปิดเหงือก
ในกรณีที่มีร่องลึกปริทันต์มากหรือมีการทำลายกระดูกรุนแรง อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อเข้าถึงรากฟันได้ดีขึ้น สำหรับขั้นตอนการผ่าตัดเปิดเหงือกนั้นไม่จำเป็นต้องทำทุกคน แต่ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีไป
ผลข้างเคียงจากการเกลารากฟัน
หลังการเกลารากฟัน อาจพบผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ อาการเสียวฟันในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เหงือกอาจบวมปวดหรือมีเลือดออกเล็กน้อย และอาจรู้สึกว่าฟันโยกมากขึ้นชั่วคราว อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติและจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเหงือกเริ่มหายและแข็งแรงขึ้น
การดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อสุขภาพฟันที่ดี
การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการกลับมาของโรคปริทันต์ ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน และพบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก
สรุป
เกลารากฟันเป็นการรักษาที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคปริทันต์ แม้จะต้องใช้เวลาและการดูแลที่ต่อเนื่อง แต่เป็นการรักษาและป้องกันการสูญเสียฟัน สำหรับผู้ที่กำลังมองหาคลินิกทันตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการเกลารากฟัน Smile Seasons พร้อมให้บริการด้วยทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของคุณ