ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรต่อ
วันหนึ่งขณะคุณกำลังนั่งทำงาน น้องของคุณซึ่งอยู่บ้านเดียวกันก็โทรศัพท์มาบอกว่าเช้านี้เหมือนจะมีไข้ เจ็บคอ แล้วก็ไอ เลยตรวจ ATK ปรากฎว่าขึ้น 2 ขีด คุณไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่ก็รีบหยิบ ATK มาตรวจสรุปว่าขึ้น 2 ขีดเหมือนกัน และน้องของคุณก็โทรมาบอกอีกว่าคุณพ่อกับคุณแม่ผลก็ผลเป็น positive ทั้งคู่ คุณจะทำยังไงต่อดี
Smile Seasons คัดกรองคนไข้ทุกคนด้วยแบบประเมินความเสี่ยง รวมทั้งทำ ATK ให้ฟรีก่อนเริ่มการรักษา บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับคนไข้ของเรา และประชาชนทั่วไปที่มีผล ATK เป็น Positive ว่าควรต้องทำอย่างไรต่อไป
1. ตรวจเช็คมาตรฐานของ ATK
หากคุณไม่ได้ตรวจ ATK กับเรา ก่อนอื่นเราอยากให้คุณมั่นใจว่าชุดตรวจ ATK ที่คุณใช้นั้นมีมาตรฐาน โดยคุณสามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจที่ได้รับอนุญาตผลิตและนำเข้า ได้ที่ website ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพ มีแนวโน้มที่จะได้ผลตรวจผิดพลาด ไม่ว่าจะผลบวกลวง หรือผลลบลวง หากชุดตรวจที่คุณใช้ไม่ผ่าน อ.ย. เราแนะนำให้คุณตรวจซ้ำใหม่อีกรอบ
2. ตรวจสอบว่าคุณอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีอะไร
2 ปีตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 นั้น ผู้ป่วย COVID-19 ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาไหน ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุก รพ. ทั้งรัฐบาล และเอกชน โดยคุณไม่ต้องจ่ายค่ารักษา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกเรียกเก็บจาก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.
แต่นับจากวันที่ 16 มี.ค. 65 เป็นต้นไป ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว จะต้องเข้ารับการรักษาตามสิทธิ ใน รพ. เครือข่ายของตน พูดง่ายๆ คือคุณใช้สิทธิรักษาฟรีเหมือนเดิม เพียงแต่คุณไม่สามารถเดินดุ่มๆ ไปทำการตรวจรักษาใน รพ. เอกชน หรือ รพ. ที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิของคุณได้เหมือนเดิมอีกต่อไป การรักษาจะใช้มาตราการ เจอ แจก จบ ร่วมกับการรักษาแบบที่บ้าน (Home Isolation) ในชุมชน (Community Isolation) หรือ Hospital ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปเจาะลึกในประเด็นนี้กันอีกที
หากผู้ป่วยอาการเริ่มหนัก (สีเหลือง) หรืออาการฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) คุณสามารถใช้เข้ารับการรักษาได้ ‘ทุก ร.พ.’ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน โดยจะเปลี่ยนมาใช้สิทธิใหม่ที่ชื่อ UCEP Plus ที่เป็น ‘Plus’ เพราะว่า UCEP ธรรมดาจะใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดงเท่านั้น และปกติจะเบิกได้แค่ 72 ชม.แรก หลังจากนั้นต้องส่งกลับ รพ. ต้นสังกัด แต่ UCEP Plus สำหรับ COVID สามารถใช้ได้ทั้งสีเหลือง และสีแดง รวมทั้งอยู่รักษาจนหายได้ไม่ต้องส่งกลับ
3. ตรวจสอบสิทธิของคุณ
คนไทยทุกคนมีสิทธิในการรักษาโดยจะตกอยู่ 1 ใน 3 ระบบดังนี้
- สิทธิบัตรทอง หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน
- สิทธิประกันสังคม หากคุณเป็นพนักงานบริษัทในภาคเอกชน สิทธิของคุณจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม
- สิทธิข้าราชการ ในกรณีที่คุณทำงานเป็นข้าราชการ และจะถูกกำจัดดูแลโดย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
คุณสามารถเช็คสิทธิการรักษา รวมทั้งโรงพยาบาลต้นสังกัดของคุณได้ทันทีที่ เวปไซต์ของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโทรสายด่วนสปสช. 1330 กด 2
4. แจ้งเข้าสู่ระบบการรักษา
ในจำนวนขั้นตอนทั้งหมดที่คุณจะต้องทำ การแจ้งเข้าสู่ระบบการรักษาเป็นขั้นตอนที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เวลานาน โทรไม่ติด หรือโทรติดแต่ไม่มีผู้ติดต่อกลับ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ระบบการรักษา เราจึงรวบรวมช่องทางการติดต่อทั้งหมดมาให้ดังนี้
- Website ของ สปสช. วิธีการการลงทะเบียนผ่านทาง website เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เข้าไปที่ http://crmsup.nhso.go.th ได้เลย
- Line @bkkcovid19connect
- โทร 1330 กด 14 (สปสช.)
- โทร 1669 กด 2 (สายด่วนศูนย์เอราวัณ)
- โทรสายด่วน กทม. 50 เขต คุณสามารถเช็คเบอร์โทรในเขตของคุณที่ได้รูปด้านล่าง
5. ตัวเลือกในการรักษา สำหรับผู้ป่วยสีเขียว
หากคุณเป็นผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย คุณมีทางเลือกในการรักษาดังนี้
- รักษาที่บ้าน (Home Isolation)
- รักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกตัวกักที่บ้าน (เจอ แจก จบ)
- รักษาในชุมชน (Community Isolation) และ Hospitel
- เลือกรักษาใน รพ. เอกชน
Home Isolation
- หากคุณสามารถแยกห้องอย่างเด็ดขาด กับสมาชิกอื่นในครอบครัว และอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวคุณสามารถทำ Home Isolation ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำ และสะดวกที่สุด
- ระบบ Home Isolation สามารถดูแลทั้งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง หลังแจ้งข้อมูลเข้าระบบการรักษา คุณอาจต้องรอเป็นเวลา 24-48 ชม. หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับคุณ
เจอ แจก จบ
- ข้อควรทราบคือ รพ. ที่ใช้มาตราการ เจอ แจก จบ ยังมีไม่มาก และ ARI Clinic ของแต่ละ รพ. มีเวลาเปิดปิดไม่ตรงกัน รวมทั้งไม่ได้เปิดให้บริการตลอด 24 ชม. บางที่จำกัดจำนวนคิวตรวจต่อวัน ฉะนั้นหากคุณต้องการใช้บริการ เจอ แจก จบ เราแนะนำให้คุณโทรศัพท์สอบถาม รพ. ต้นสังกัดก่อนที่เข้ารับบริการ
- รับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว) เช่น สถานีอนามัย รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น
- ข้อควรระวังคือ คุณไม่สามารถเข้ารับบริการใน รพ. ตติยภูมิ หรือ รร.แพทย์ได้ หากไม่มีใบส่งตัว
- สามารถเข้ารับบริการใน รพ.เอกชน (เฉพาะที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวกับ สปสช.)
เจอ แจก จบ กรณีสิทธิประกันสังคม
- ควรรับบริการใน รพ. ที่ลงทะเบียนสิทธิไว้
- หากไม่สะดวกสามารถไป สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม หรือ รพ. รัฐ ทุกแห่ง
- Download รายชื่อสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม
Home Isolation กับ เจอ แจก จบ แตกต่างกันอย่างไร
Home Isolation
เจอ แจก จบ
แยกกักตัวที่บ้าน
จ่ายยาตามอาการ
โทรติดตามอาการ
ติดตามทุกวัน
ครั้งเดียวที่ 48 ชม.
อุปกรณ์ตรวจประเมิน
(เครื่องวัดอุณหภูมิ และอ๊อกซิเจนปลายนิ้ว)
ส่งอาหารให้
ระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง
- แม้จะเป็นการรักษาตัวที่บ้านเหมือนกัน แต่รายละเอียดของทั้งคู่มีความแตกต่างกัน
- Home Isolation นั้นมีความง่าย คุณไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอก นอกจากนั้น ยังได้รับอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ เช่นเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดอ๊อกซิเจน แถมยังได้รับการติดตามอาการทุกวัน ข้อเสียคือ คุณต้องประเมินอาการด้วยตัวเอง รวมถึงหากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากๆ คุณอาจต้องรอนานกว่าเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับคุณ
- เจอ แจก จบ มีความยากตรงที่ ณ ตอนที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น จำนวน รพ. และคลินิกที่เข้าร่วมในโครงการยังมีไม่มาก ถ้าคุณเลือก เจอ แจก จบ คุณสามารถเข้าไปทำการรักษา และรับยาได้เลย โดยจะมีบุคลากรทางการแพทย์คอยประเมินอาการให้ อย่างไรก็ตามคุณจะไม่ได้รับอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ การติดตามอาการจะทำแค่ครั้งเดียว (ที่ 48 ชม.)
การรักษาในชุมชน (Community Isolation) และ Hospitel
- หากคุณมีข้อจำกัดในการทำ Home Isolation เช่น ไม่มีพื้นที่ในบ้านให้สามารถแยกกักตัว เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาให้คุณเข้ารับการรักษาใน ศูนย์พักคอย รพ.สนาม หรือ Hospitel
- ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจ rt-PCR เพื่อยืนยันผลทุกคนก่อนเข้ารับบริการ
เลือกรักษาใน รพ. หรือคลินิกเอกชน
- หากคุณอยู่ในกลุ่มสีเขียว และต้องการรับการรักษาใน รพ.เอกชน คุณจะต้องชำระค่ารักษาบริการด้วยตัวเอง
- อย่างไรก็ตาม หากคุณมีประกันชีวิตที่ครอบคลุมการเจ็บป่วยจาก COVID-19 หรือไม่ขัดสนเรื่องค่าใช้จ่าย รพ.เอกชน ก็เป็นทางเลือกที่มีความสะดวกสบาย และช่วยลดภาระหน่วยบริการทางภาครัฐได้ดี
- คุณสามารถเลือกเข้ารับ Home Isolation หรือ Hospitel กับ รพ.เอกชนได้เช่นกัน
6. ข้อปฎิบัติสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง
- ผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง และสีแดง สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารับการรักษาได้ทุก รพ.
- กรณีสีแดง ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาใน รพ. ทุกราย กรณีเป็นสีเหลืองผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามความรุนแรงของโรค ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบ Home Isolation, Community isolation, Hospitel หรือการนอนใน รพ. ก็ได้
- อาการของผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากตอนแรกอยู่ในกลุ่มสีเขียว แต่ต่อมาอาการหนักขึ้นก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ UCEP Plus ได้เช่นกัน
- กรณีผู้ในความดูแลของคุณมีอาการเข้าข่ายกลุ่มสีแดง กรุณาโทรเรียกรถฉุกเฉินที่ เบอร์ 1669
- แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
- แพทยศาสตร์บัณฑิต ม.ขอนแก่น
Share This Page
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจัดฟัน และคุณหมอแนะนำว่าต้องปักหมุด คุณอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร วันนี้คุณหมอมาตอบข้อสงสัย และให้ความรู้เกี่ยวกับ Miniscew กันครับ
ฟันห่าง ไม่กล้ายิ้ม ไม่มั่นเวลายิ้มใช่ไหม ? บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการฟันห่าง สาเหตุ พร้อมแนะนำวิธีรักษาอาการฟันห่างในเด็กและผู้ใหญ่จากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีทำให้ฟันขาวที่คุณหมอแนะนำมีอะไรบ้าง รวบรวมการปฎิบัติตัวที่จะทำให้ฟันของคุณขาวสว่างอยู่ตลอดเวลา รวมถึงตัวเลือกการรักษาที่จะให้คุณอวดยิ้มสวยสุขภาพดีได้ที่นี่