ฟันผุทะลุโพรงประสาท รู้ได้อย่างไร รักษาได้ไหม ต้องรักษารากฟันหรือเปล่า
ฟันผุเป็นปัญหาทางทันตกรรมที่พบได้บ่อย สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนฟันผุทะลุโพรงประสาท ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถอักเสบและตายได้ คุณอาจมีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง หรือเหงือกอักเสบตามมาได้ วันนี้ทันตแพทย์จากคลินิกทันตกรรม Smile Seasons จะมาอธิบาย สาเหตุ วิธีการป้องกัน แนวทางการรักษา ตามอ่านกันได้เลย!
ฟันผุทะลุโพรงประสาท คืออะไร?
ฟันผุทะลุโพรงประสาทนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากโรคฟันผุที่มีความรุนแรง ลุกลามไปจนทำลายเนื้อฟัน และผุลึกลงไปเรื่อยๆ จนมีขนาดใหญ่มากขึ้น และทะลุไปจนโพรงประสาท ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาท และเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม แบคทีเรียจะก่อให้เกิดการอักเสบเข้าไปยังโพรงประสาทฟัน และรากฟันได้
ฟันผุทะลุโพรงประสาทเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
สาเหตุหลักๆ ของอาการฟันผุ เกิดจากการรักษาสุขอนามัยในช่องปากไม่สม่ำเสมอ หรือรักษาไม่ดีเพียงพอ ทำให้แบคทีเรียก่อโรคและก่อตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งผลิตกรดออกมาทำลายครอบฟัน และผิวฟัน โดยหากไม่ได้รับการอุดฟัน และขูดหินปูน ก็จะทำให้ฟันผุทะลุโพรงประสาทได้ ลองมาดูกันดีกว่าว่า ใครบ้างที่มีพฤติกรรมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการฟันผุทะลุถึงโพรงประสาท
- ผู้ที่ชอบทานขนมขบเคี้ยวและอาหารที่มีน้ำตาลสูง
การรับประทานขนมขบเคี้ยวและอาหารที่มีรสชาติหวาน หรือมีน้ำตาลสูง อย่างเช่น ไอศครีม น้ำผึ้ง น้ำตาล ผลไม้อบแห้ง เค้ก หรือลูกอม นั้นจะเพิ่มโอกาสทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้น เนื่องจากน้ำตาลถือเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในช่องปาก ทำให้แบคทีเรียเหล่านั้นผลิตกรดออกมาทำลายเนื้อฟันของเราได้ นอกจากนี้เครื่องดื่มประเภท โซดา ก็มีปริมาณน้ำตาลและความเป็นกรดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถทำลายฟันของเราได้เช่นกัน
- ผู้ที่ดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากและฟันไม่ดี
สำหรับผู้ที่ยังดูแลสุขภาพอนามัยของช่องปากและฟันไม่ดี เช่น ไม่ค่อยแปรงฟันหลังมื้ออาหาร หรือแปรงฟันอย่างไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดคราบพลัค ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดฟันผุได้
- ผู้ที่มีภาวะขาดฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ คือ แร่ธาตุที่ช่วยปกป้องไม่ให้เกิดฟันผุ หากขาดฟลูออไรด์จะทำให้ฟันไม่แข็งแรง และเกิดฟันผุได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องรักษาด้วยวิธีการอุดฟัน ดังนั้นเราควรเสริมฟลูออไรด์ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการใช้ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
การทำความสะอาดช่องปากที่ได้ประสิทธิภาพ คุณจำเป็นต้องเคลื่อนไหวข้อมือระหว่างแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น พาร์กินสัน (Parkinsonism) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยสมองเสื่อม (Dementia) หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer) อาจมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว หรือหลงลืมกิจวัตรประจำวัน ทำให้อาจลืมแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีผู้ช่วยดูแล และต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากถี่กว่าปกติ (ทุกๆ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความเห็นของทันตแพทย์ประจำตัว)
อาการของฟันผุทะลุโพรงประสาท มีอะไรบ้าง
ฟันผุทะลุโพรงประสาท เป็นสาเหตุหนึ่งของรากฟันอักเสบ ฉะนั้นจึงมีอาการคล้ายกัน อ่านรายละเอียดรากฟันอักเสบได้ที่นี่ โดยอาการมีดังนี้
- ปวดฟัน – เป็นอาการสำคัญที่มักทำให้คนไข้มาพบคุณหมอ ลักษณะอาการปวดมักเป็นแบบปวดจี๊ดๆ ตุบๆ ความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงปวดมากจนทนไม่ได้ อาการปวดฟันสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ คุณสามารถหาข้อมูลได้ที่นี่
- เสียวฟัน – อาการมักถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิร้อนจัด เย็นจัด เมื่อรับประทานอาหาร
- เจ็บตอนเคี้ยวอาหาร – เมื่อรับประทานอาหาร จะรู้สึกเจ็บในขณะเคี้ยวอาหาร
- เหงือกบวมอักเสบ – การอักเสบหรือติดเชื้อสามารถลุกลามออกมานอกโพรงประสาทสู่เนื้อเยื่อโดยรอบได้
- ฟันเปลี่ยนสี – เมื่อฟันผุทะลุโพรงประสาท จนเนื้อเยื่อภายในฟันตาย เนื้อฟันจะเปลี่ยนสีคล้ำมากขึ้น ซึ่งการฟอกสีฟันในกรณีนี้จะมีความยากมากกว่าปกติ
ถ้าเป็นขึ้นมาแล้ว มีความอันตรายมากไหม?
ฟันผุทะลุโพรงประสาทนั้นเป็นอาการฟันผุที่รุนแรง คุณควรเข้ามาพบทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้การอักเสบเป็นมากจนไม่สามารถเก็บฟันธรรมชาติของคุณไว้ได้ ซึ่งคุณหมอจำเป็นต้องถอนฟันซี่ที่เป็นโรคออกไป
นอกจากนั้นการอักเสบ และการติดเชื้ออาจทะลุโพรงประสาทฟันออกมาสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ และก่อให้เกิดเหงือกบวมอักเสบ ปริทันต์อักเสบ หรือโพรงหนองรอบๆ ฟัน ในบางกรณีการติดเชื้อสามารถลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญอื่นๆ ได้ เช่น โพรงจมูก ตา คอ หรือกระทั่งลุกลามไปในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออ่อนแอ ยังเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายอีกด้วย
แนวทางการรักษาฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟัน
การเลือกแนวทางการรักษาฟันผุที่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน จะขึ้นอยู่กับความรุนแรง และพื้นที่ของการอักเสบติดเชื้อ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาว่าเนื้อเยื่อในโพรงประสาทจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากฟันซี่นั้นได้รับการรักษาไปแล้ว
การรักษากรณี Reversible Pulpitis
- เนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้ หลังจากได้รับการรักษา
- ทันตแพทย์จะกรอเอาเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ และติดเชื้อออกไป และทำการอุดฟันให้กับคุณ กรณีที่จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันออกไปมากคุณอาจต้องทำอุดฟันด้วยเซรามิก (Inlay, Onlay) ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการอุดฟัน รวมทั้งราคาค่ารักษาได้ที่นี่
- กรณีที่มีอาการปวดมาก คุณหมออาจให้ยาแก้ปวด เช่น Paracetamol, Ibuprofen, Celecoxib ไปรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการ กรุณาตรวจสอบประวัติแพ้ยา และข้อห้ามในการรับประทานกับทันตแพทย์ประจำตัว หรือเภสัชกร
- ยาสีฟันที่มีสารลดการเสียวฟัน ก็สามารถช่วยลดอาการเสียวฟันที่รบกวนชีวิตประจำวันของคุณได้
การรักษากรณี Irreversible Pulpitis
- เนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันตาย หรือมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงที่ไม่สามารถหายได้
- แนวทางการรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง
- การรักษารากฟัน – เป็นแนวทางรักษาหลักในการรักษาฟันผุทะลุโพรงประสาทที่เนื้อเยื่อภายในตาย ทันตแพทย์จะกรอเปิดโพรงประสาทฟัน เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบออกไป ส่วนใหญ่คุณหมอจะใส่ยาฆ่าเชื้อ และอุดฟันชั่วคราว คุณอาจต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งจนแน่ใจว่าการอักเสบติดเชื้อถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว หลังจากนั้นคุณหมอจะบูรณะฟันด้านบนขึ้นมาใหม่ด้วยการอุดฟัน หรือทำครอบฟันถาวร (หาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษารากฟันได้ที่นี่)
- ถอนฟัน – หากฟันถูกทำลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่จนไม่สามารถที่จะรักษารากฟันได้ หรือคุณเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษารากฟัน ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องถอนฟันซี่ที่มีการอักเสบติดเชื้อออก หลังจากถอนฟันคุณสามารถเลือกทดแทนฟันธรรมชาติซี่ที่หายไปได้หลายวิธี เช่น การทำฟันปลอม การทำสะพานฟัน หรือการทำรากฟันเทียม ในบางกรณีที่คนไข้มี ฟันซ้อน ฟันเก และคุณหมอประเมินแล้วว่าสามารถจัดฟันต่อได้ คุณอาจเข้ารับการจัดฟัน โดยไม่ต้องทดแทนฟันธรรมชาติ
ถ้า “อุดฟัน” โดยไม่ต้องรักษารากฟันได้ไหม
หากการอักเสบติดเชื้อไม่รุนแรง และทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ ที่มีสุขภาพดีได้หลังจากอุดฟัน คุณอาจไม่จำเป็นต้องรักษารากฟัน
อย่างไรก็ตามหากคุณหมอพิจารณาว่าการอักเสบติดเชื้อรุนแรงเกินกว่าที่จะหายได้เอง การอุดฟันเพียงอย่างเดียวนั้นมีความเสี่ยง เพราะนอกจากจะไม่สามารถบรรเทาอาการปวด และรักษาให้หายขาดได้แล้ว คุณยังเสี่ยงกับการติดเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น และอาจมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย
แชร์ 5 เทคนิค วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุทะลุโพรงประสาท
แม้ว่าอาการฟันผุทะลุโพรงประสาทจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพช่องปากก็จริง แต่เราก็สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันผุได้ ด้วย 5 วิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
พบทันตแพทย์ เพื่อประเมินสุขภาพเหงือกและฟันทุกๆ 6 เดือน
- ทำความสะอาดเหงือกและฟันอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ยาสีฟันที่มีส่วนผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ รวมถึงใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนนอน เพื่อทำความสะอาดในบริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด
อาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม น้ำมะนาว หรือโซดา คุณควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้สารเคลือบฟันเสียหายได้
- ควบคุมการรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ
การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และยีสต์ รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้สด ที่มีวิตามิน A C และ E สูง จะช่วยให้ฟันของเราแข็งแรง
- ไม่ใช้ฟันในการงัดแงะ หรือเปิดของแข็ง
เนื่องจากการใช้ฟันกระทบของแข็ง จะเสี่ยงทำให้ฟันแตก ทำให้มีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะก่อโรคเข้ามาทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน
การเตรียมตัวก่อนการทำรากฟันเทียมฟันหน้า
การเตรียมตัวก่อนการใส่รากฟันเทียมฟันหน้าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการทำรากฟันเทียมฟันหน้า ซึ่งมีขั้นตอนของการเตรียมตัวก่อนทำทันตกรรมหลักๆ ดังนี้
- การปรึกษาทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
ขั้นตอนแรก คนไข้ควรที่จะได้รับคำปรึกษาเบื้องต้นกับทันตแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ เพื่อให้ทันตแพทย์ประเมินสุขภาพช่องปาก ทำการเอกซเรย์หรือสแกนกระดูกขากรรไกรแบบ 3 มิติ พูดคุยเกี่ยวกับทางเลือก และเป้าหมายการรักษา พร้อมประเมินความเหมาะสมสำหรับการปลูกรากฟันเทียมก่อนทำการรักษาจริง
- ทำการเคลียร์ช่องปาก
ก่อนที่จะทำการรักษารากฟันเทียมฟันหน้า จะต้องทำการเคลียร์ช่องปากอื่นๆ ก่อน เช่น ขูดหินปูน อุดฟันที่ผุ รักษาโรคเหงือกอักเสบ ฯลฯ เพื่อทำให้ช่องปากสะอาดและพร้อมสำหรับการทำรากฟันเทียมฟันหน้า
- ทำการวางแผนการรักษา
ทันตแพทย์จะทำการวางแผนการรักษาให้ล่วงหน้า และแนะนำให้คนไข้ลางานอย่างน้อย 1-2 วัน ก่อนกลับไปทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทำการรักษา โดยรูปแบบของการรักษารากฟันเทียมฟันหน้าจะต้องขึ้นอยู่กับปัญหาภายในช่องปากที่เป็นอยู่ด้วย
- ดูแลสุขภาพในช่องปากและสุขภาพร่างกายให้พร้อม
ควรรักษาสุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานยาประจำตัวมาตามปกติ รวมถึงควรงดสูบบุหรี่ด้วย
สรุป
“ฟันผุทะลุโพรงประสาท” เป็นปัญหาทางทันตกรรมที่รุนแรง และคุณควรเข้ามารับการรักษากับทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยมักมีสาเหตุจากการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดีพอ หรือละเลยปัญหาฟันผุ จนการอักเสบติดเชื้อลุกลามลึกมากขึ้น อาการของโรคคือ ปวดฟัน เสียวฟัน เหงือกบวมอักเสบ ฟันอาจเปลี่ยนสีคล้ำมากขึ้น แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรง อาจอุดฟันอย่างเดียว หรือมีความจำเป็นต้องรักษารากฟัน/ถอนฟัน
Smile Seasons มีทีมทันตแพทย์เฉพาะทางที่สามารถดูแลภาวะฟันผุทะลุโพรงประสาทได้ ไม่ว่าแนวทางการรักษาจะเป็นแค่การอุดฟัน หรือรักษารากฟัน คุณก็สามารถวางใจว่าจะได้รับคำแนะนำ และการรักษาจากทีมคุณหมอที่เปี่ยมประสบการณ์
หากคุณมีคำถามสงสัย หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อเราเพื่อทำนัดเข้ามาปรึกษากับทันตแพทย์ของ Smile Seasons ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- Pulp management for caries in adults: maintaining pulp vitality., Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6734125/
- Management of deep caries and the exposed pulp., Available from: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/iej.13128
- Treatment of pulps in teeth affected by deep caries – A systematic review of the literature., Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0377529113000023
- Management of deep caries and the exposed pulp., Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30985944/
ตรวจบทความโดย
ทพ.ธนิตย์ วนิชนพรัตน์
วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาปริทันตวิทยา ทันตแพทยสภา
Certificate of Training Orthodontic and Miniscrew – Advance Orthodontic Society
Certification of Invisalign Provider
ทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
โปรโมชั่นอื่นๆ
เลือกน้ำยาบ้วนปากอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง
น้ำยาบ้วนปากเป็นตัวช่วยเสริมในการส่งเสริมให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี แต่ควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับสุขภาพช่องปาก แต่จะเลือกอย่างไร คลิกเลย
หลังติดเครื่องมือจัดฟัน ฟันโยกเกิดจากอะไร แก้ไขได้ด้วยวิธีใดบ้าง
หลังจัดฟัน ฟันโยกเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจัดฟันนานเกินไปและไม่พบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ฟันโยกหลังจัดฟัน
ชวนหาคำตอบเมื่อเหล็กจัดฟันหลุด ต้องทำอย่างไร
เหล็กจัดฟันหลุด ควรทำอย่างไร? เรียนรู้สาเหตุที่ทำให้เหล็กจัดฟันหลุด พร้อมวิธีรับมือและการป้องกัน ไม่ให้จัดฟันแล้วเหล็กหลุดได้ง่าย ๆ
จัดฟันแล้วปวดฟันเกิดจากอะไร แก้ไขได้อย่างไรบ้าง
อาการจัดฟันแล้วปวดฟันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แรงดันจากการเคลื่อนฟันหรือการดูแลที่ไม่ดี ปัญหาเหล่านี้ควรรีบแก้ไขก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากอื่น ๆ
เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร
เกลารากฟันเป็นการทำความสะอาดรากฟันใต้เหงือกลึก เพื่อกำจัดหินปูนและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาโรคปริทันต์และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง
ทำความเข้าใจการปักสกรูเวลาจัดฟันคืออะไร
เจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับการปักสกรูจัดฟัน ตั้งแต่ขั้นตอน อาการที่อาจเกิดขึ้น และการดูแลตัวเองหลังปักสกรู พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ