เคลียร์ทุกคำถาม! ครอบฟันคืออะไร มีทั้งหมดกี่แบบ ราคาเท่าไหร่ ?
ใครที่เคยไปหาคุณหมอฟันแล้วคุณหมอแนะนำให้ทำครอบฟันบ้าง? เมื่อเวลาผ่านไป ฟันของคุณอาจเสียหายได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ฟันผุ อุบัติเหตุ หรือฟันสึกจากการใช้งาน ซึ่งการทำครอบฟันสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
สำหรับหลายคนที่ยังไม่รู้จักครอบฟัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่คุณถึงควรทำครอบฟัน มีวัสดุใดให้เลือกบ้าง แล้วแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ครอบฟันราคาเท่าไหร่ ขั้นตอนในการทำ รวมถึงวิธีการดูแลตัวเอง ถ้าพร้อมแล้วตามอ่านกันได้เลย
การครอบฟัน คืออะไร
ครอบฟัน คือ ฝาครอบที่ถูกทำขึ้นเพื่อสวมทับบนตัวฟัน ใช้เพื่อปกปิด ป้องกัน และฟื้นฟูรูปร่างของฟันที่เสียหาย ซึ่งอาจเกิดจากการผุขนาดใหญ่จนไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้ อุบัติเหตุ หรือที่สูญเสียเนื้อฟันไปเป็นจำนวนมาก หรือฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน ครอบฟันมักถูกผลิตจาก โลหะ เซรามิก หรือเรซิน
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ รากฟันเทียม และ การรักษารากฟัน ที่เขียนโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้
ใครบ้างที่ต้องทำครอบฟัน
- ฟันผุที่ได้รับการอุดด้วยวัสดุบูรณะขนาดใหญ่ – เนื่องจากวัสดุอุดขนาดใหญ่เมื่อได้รับแรงบดเคี้ยวอาจไปดันเนื้อฟันที่เหลืออยู่ให้ร้าวหรือแตกได้
- ฟันที่บิ่น หรือหักขนาดใหญ่
- ฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว
- ฟันที่จะบูรณะด้วยการทำ สะพานฟัน หรือทดแทนฟันด้วยการทำรากฟันเทียม
- ฟันที่สึกมาก ทั้งจากการใช้งานผิดปกติ หรือภาวะการนอนกัดฟัน
- ฟันที่มีสี หรือรูปร่างผิดปกติ
วัสดุที่นิยมใช้ครอบฟัน
- ตำแหน่งของฟัน – ครอบฟันในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ฟันหน้า คุณหมอจะเลือกใช้วัสดุที่มีความสวยงาม มีสีสันและพื้นผิวเหมือนกับฟันธรรมชาติ
- หน้าที่ของฟัน – ครอบฟันสำหรับฟันกรามอาจต้องเน้นให้ใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของโลหะ
- งบประมาณ – วัสดุชนิดต่างๆ มีราคาแตกต่างกัน วัสดุเช่น ทอง และเซรามิกจะมีราคาแพงกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ
- ความชอบของผู้ป่วย – ผู้ป่วยบางรายอาจมีความชอบจำเพาะกับวัสดุบางชนิด หรือมีอาการแพ้วัสดุบางชนิด
- ปัจจัยทางคลินิก – คุณหมออาจพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยตัดสินใจเลือกวัสดุที่เหมาะสมเช่น โครงสร้างของฟันที่เหลืออยู่ แรงกัด และโอกาสที่จะเกิดฟันผุในอนาคต
1. ครอบฟันจากโลหะ (Full Metal Crown, FMC)
- มีความแข็งแรงทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หากได้รับการดูแลที่ถูกต้อง
- ใช้พื้นที่ในการเตรียมทำครอบฟันน้อยกว่า ทำให้สูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติน้อยกว่า
- มีอัตราการสึกกร่อนใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
ข้อเสียของครอบฟันจากโลหะ
- ลักษณะเป็นโลหะ แตกต่างจากฟันธรรมชาติ ดูไม่สวยงาม
- โลหะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในคนไข้บางราย
2. ครอบฟันจากเซรามิก (All Ceramic Crown, ACC)
ครอบฟันที่ทำจากเซรามิกมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกับฟันธรรมชาติมาก จึงเหมาะกับการใช้ในฟันหน้า เซรามิกประเภท Zirconia เป็นวัสดุประเภทเซรามิกที่ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในการทำครอบฟัน เนื่องจากเป็นเซรามิกที่แข็งแรงเทียบเท่าโลหะ ทนต่อการแตกหักชำรุด และยังมีความสวยงามอีกด้วย
- เซรามิกเป็นวัสดุที่มีความสวยงามสูงสุด สามารถเลือกสี และสร้างพื้นผิวที่เหมือนกับฟันธรรมชาติจนแยกจากกันไม่ออก
- เป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดสำหรับฟันหน้า
- มีความเข้ากันกับเนื้อเยื่อในช่องปากสูง พบอาการแพ้ได้น้อยกว่าแบบโลหะ
- มีความแข็งแรงรองจากโลหะ
- ทำให้ฟันคู่สบสึกได้มากกว่าแบบโลหะ
- มีราคาค่อนข้างสูง
3. ครอบฟันจากโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain Fused to Metal Crown, PFM)
- ได้ทั้งความแข็งแรง และความสวยงาม
- มีการใช้อย่างแพร่หลาย ถูกใช้มากว่า 50 ปี ทันตแพทย์ส่วนใหญ่คุ้นเคย
- ราคาถูกกว่าครอบฟันที่ทำจากเซรามิกทั้งชิ้น
- โลหะที่อยู่ในเซรามิกยังสามารถมองเห็นได้ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ติดกับเหงือก ทำให้มีความสวยงามไม่ 100% เหมือนกับครอบฟันที่ทำจากเซรามิกทั้งชิ้น
- ไม่เหมาะสำหรับคนไข้นอนกัดฟัน เพราะทำให้ฟันคู่สบสึกได้มาก
4. ครอบฟันจากเรซิน (All Resin Crown)
- ราคาถูกที่สุด
- สามารถทำได้เลยในครั้งเดียว ไม่ต้องส่งผลิตในห้องแลปทันตกรรม
- เหมาะสำหรับครอบฟันชั่วคราว
- ไม่แข็งแรง ไม่เหมาะกับการใช้ถาวร
- มีความสวยงามระดับหนึ่ง แต่ไม่เท่ากับครอบฟันที่ทำจากเซรามิก
5. ครอบฟันจากเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel Crown, SSC)
ราคา ครอบฟัน กับ Smile Seasons
ครอบฟัน ราคาเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เป็นส่วนประกอบ รวมถึงปริมาณของโลหะมีค่า เช่น ทองคำ ที่อยู่ในครอบฟัน
ประเภทของครอบฟัน | ราคาโดยประมาณ |
ครอบฟันด้วยโลหะทั้งชิ้น (Base Metal) | 10,000 |
ครอบฟันด้วยโลหะผสมทองคำ (Gold Metal) | 16,000-25,000 |
ครอบฟันด้วยโลหะเคลือบเซรามิก (PFM Crown) | 10,000-25,000 |
ครอบฟันด้วยเซรามิกทั้งชิ้น (Zirconia) | 16,000-18,000 |
ครอบฟัน วีเนียร์ สะพานฟัน แบบไหนดีกว่า
ครอบฟัน วีเนียร์ และสะพานฟัน เป็นประเภทของทันตกรรมบูรณะชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่มีจุดประสงค์ และข้อบ่งชี้ในการทำที่แตกต่างกันโดย
- ครอบฟัน คือการใช้วัสดุทางทันตกรรมลักษณะครอบลงไปบนฟันที่มีความเสียหายจากฟันผุ อุบัติเหตุ หรือฟันสึกมากจนโครงสร้างของฟันสูญเสียความแข็งแรงไป ฟันที่ถูกครอบจะต้องได้รับการกรอตกแต่งให้สามารถรับครอบฟันได้
- วีเนียร์ มักใช้ในด้านความสวยงามเป็นหลัก แผ่นวัสดุทางทันตกรรมที่ทำจากคอมโพสิตเรซินที่ใช้ อุดฟัน หรือเซรามิก จะถูกวางไว้ที่ผิวหน้าของฟัน วีเนียร์สามารถแก้ไขสี รูปร่าง ขนาด พื้นผิว รวมทั้งปิดช่องว่างของฟันได้ ฟันที่จะทำวีเนียร์จะได้รับการกรอเช่นกัน แต่กรอออกบางมาก และจะกรอเฉพาะด้านหน้าของฟันเท่านั้น อ่านบทความ วีเนียร์ คืออะไร ราคาเท่าไหร่ เพิ่มเติมได้ที่นี่
- สะพานฟัน มีหน้าที่ในการทดแทนฟันที่หายไป โดยหลักการแล้วสะพานฟันจะมีครอบฟันอยู่ที่ซี่แรก และซี่สุดท้าย ส่วนตรงกลางจะเรียกว่า Pontic
ครอบฟันชั่วคราว คืออะไร
- เมื่อทำครอบฟัน หลังจากกรอฟันของคุณเพื่อเตรียมทำครอบแล้ว คุณหมอจะต้องพิมพ์ปาก หรือใช้เครื่องแสกนช่องปาก 3 มิติ (Intraoral Scanner) เพื่อส่งข้อมูลให้กับห้องปฎิบัติการผลิตครอบฟันถาวรให้กับคุณ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 อาทิตย์
- ในระหว่างที่รอคุณหมอจะทำครอบฟันชั่วคราวให้กับคุณ
- เนื่องจากเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้อุดฟัน คุณหมอจึงสามารถทำครอบฟันชั่วคราวให้คุณได้เลยในคลินิก และยัง เลือกสีสันในคล้ายคลึงกับฟันสีข้างเคียงได้อีกด้วย
- ข้อควรระวังคือครอบฟันชั่วคราวไม่ได้แข็งแรง ทนทาน ระหว่างนี้คุณต้องระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง หรือเหนียวมากๆ เพราะอาจทำให้ครอบฟันชั่วคราวชำรุดได้
ขั้นตอนการครอบฟัน
1. การพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษา
2. การเตรียมฟัน
3. การพิมพ์ฟัน
4. การผลิตครอบฟันถาวร
5. การใส่ครอบฟันถาวร
6. การติดตามผลการรักษา
วิธีดูแลตนเองหลังครอบฟัน
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น บ้วนปากทุกครั้งหลังมื้ออาหารที่ไม่ได้แปรงฟัน
- ใช้ไหมขัดฟันเสมออย่างน้อยวันละ 1ครั้ง ก่อนนอน
- เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ถึงแม้ตัวครอบฟันจะไม่ผุ แต่เนื้อฟันใต้ครอบฟันก็ยังสามารถผุได้หากไม่ได้รับการรักษาความสะอาดที่ดี
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง เช่น ถั่วต่างๆ หรือน้ำแข็ง
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรือสุขภาพช่องปาก และขูดหินปูน (หากมี)
ข้อดีของครอบฟัน
ฟื้นฟูการทำงาน
การป้องกัน
ฟันมีความสวยงาม
ทนทาน
ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลพิเศษ
ข้อจำกัดของครอบฟัน
- ค่าใช้จ่าย – ครอบฟันเป็นการรักษาที่มีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเลือกใช้วัสดุจากเซรามิก หรือที่มีส่วนผสมของโลหะมีค่า เช่น ทอง หรือแพลตินัม คลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่สามารถให้คุณผ่อนชำระค่ารักษาได้ คุณควรวางแผนทางการเงินคร่าวๆ ก่อนตัดสินใจทำครอบฟัน
- การกรอฟัน – การทำครอบฟันจำเป็นต้องมีการกรอฟันธรรมชาติของคุณให้เล็กลงเพื่อให้มีรูปร่างเหมาะสมกับครอบฟัน จึงถือเป็นการรักษาที่ไม่สามารถเปลี่ยนใจทีหลังได้
- เป็นการรักษาที่ใช้เวลา – การทำครอบฟันโดยปกติ คุณต้องมาพบคุณหมอประมาณ 2-3 ครั้ง และมีช่วงระยะเวลารอคอยครอบฟันถาวรซึ่งจะถูกผลิตจากห้องปฎิบัติการทางทันตกรรม ฉะนั้นคุณต้องมีเวลาเพียงพอถึงจะสามารถทำครอบฟันได้
- อาจเกิดอาการแพ้ได้ – ครอบฟันที่มีส่วนผสมของโลหะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในคนไข้บางราย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดหลังทำครอบฟัน
ฟันผุ
แม้ครอบฟันจะมีหน้าที่ปกป้องและเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของฟัน แต่เนื้อฟันธรรมชาติที่อยู่ใต้ครอบฟันก็ยังผุได้อยู่ หากปล่อยให้คราบจุลินทรีย์และหินปูนสะสมที่บริเวณรอยต่อระหว่างครอบฟันกับฟันธรรมชาติ นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียอาจนำไปสู่ปัญหาเหงือก เช่น โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
เสียวฟัน
ระหว่างการกรอฟันธรรมชาติเพื่อปรับรูปร่างให้รองรับครอบฟัน หากครอบฟันไม่พอดีกับฟันทั้งซี่ เนื้อฟันบางส่วนอาจยังมีช่องว่างที่สามารถสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ เมื่อรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด หรือเย็นจัด ก็จะทำให้กระตุ้นปลายประสาทในเนื้อฟันทำให้เกิดอาการเสียวได้
อาการแพ้
สบฟันไม่พอดี
คุณหมอจะปรับแต่งครอบฟันให้พอดีกับฟันคู่สบของคุณอย่างไรก็ตาม หลังจากทำครอบฟัน หากคุณรู้สึกว่าฟันค้ำกันเวลากัด หรือมีอาการเสียวฟัน เคี้ยวอาหารแล้วปวด หรือรู้สึกว่าครอบฟันใหม่ของคุณไม่พอดีด้วยเหตุผลใดๆ คุณควรรีบติดต่อกับคลินิก เพื่อนัดตรวจกับคุณหมอโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาฟันไม่สบกันที่เกิดขึ้นทันที
ครอบฟันบิ่นหรือแตก
วัสดุสมัยใหม่อย่างเช่น เซรามิก นั้นมีความแข็งแรงอย่างมาก แต่หากโดนกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุ หรือใช้ฟันผิดวิธี เช่น ใช้ฟันงัดเปิดฝาขวด เคี้ยวของแข็งมากๆ ก็อาจทำให้ครอบฟันเสียหายได้ หากรอยชำรุดไม่ใหญ่คุณหมอจะสามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิธีการคล้ายๆ กับการอุดฟันที่ผุ แต่หากความเสียหายมีขนาดใหญ่คุณอาจต้องรื้อครอบฟันที่ชำรุดออกแล้วทำใหม่ทั้งหมด
ครอบฟันหลวม
มักพบในครอบฟันที่ถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน ซึ่งซีเมนต์ที่ยึดอาจเริ่มเสื่อมสภาพทำให้ครอบฟันหลวม หรือถึงขนาดหลุดออกได้ หากคุณสังเกตว่าครอบฟันของคุณหลวม หรือหลุดออก ให้เก็บครอบฟันไว้ และรีบติดต่อคลินิกทันที ตราบเท่าที่ครอบฟันไม่ได้รับความเสียหาย คุณหมอสามารถอุดซีเมนต์และติดครอบฟันกลับไปใหม่ได้
เหงือกร่น
ครอบฟันที่ไหนดี
- เลือกคลินิกที่ให้บริการครอบฟันโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง – การทำครอบฟัน ถือเป็นทันตกรรมบูรณะชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของทันตแพทย์เป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียง การเลือกรักษากับคุณหมอเฉพาะทางก็จะทำให้คุณสบายใจได้ว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
- ชื่อเสียงและรีวิวของคลินิก – การอ่านบทวิจารณ์ หรือรีวิวออนไลน์จากคนไข้ที่มีประสบการณ์เข้ารับการรักษาจริง ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่คุณควรนำมาพิจารณา เพื่อเลือกคลินิกที่จะครอบฟันให้กับคุณ
- เทคโนโลยี – คลินิกบางแห่งมีเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถผลิตครอบฟันชนิดเซรามิกขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องส่งห้องปฎิบัติการทางทันตกรรม ข้อดีคือคุณสามารถทำครอบฟันให้เสร็จได้ในวันเดียวกัน โดยไม่มีความจำเป็นต้องรอการผลิต หรือใส่ครอบฟันชั่วคราว
- ค่าใช้จ่าย – ครอบฟันเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่มีราคาสูง คุณควรเปรียบเทียบราคาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ดังที่กล่าวมา รวมถึงพิจารณาตัวเลือกการผ่อนชำระเงินของแต่ละที่ด้วย
- ความสะดวกสบายของคุณ – มองหาคลินิกที่จัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย และปราศจากความเครียด นอกจากนี้คุณควรเลือกคลินิกที่คุณสะดวกในการเดินทาง อาจจะเป็นใกล้บ้าน หรือที่ทำงาน
ครอบฟันเด็กคืออะไร
การครอบฟันเด็ก ส่วนใหญ่จะทำในฟันน้ำนมที่มีการผุขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้ โดยการครอบฟันเด็กจะใช้วัสดุชนิดวัสดุโลหะไร้สนิม (Stainless steel) หรือที่เรียกว่า SSC และชนิดวัสดุสีเหมือนฟันได้เหมือนกับการครอบฟันของผู้ใหญ่ แต่จะใช้เวลาในการครอบฟันที่น้อยกว่าของผู้ใหญ่ เนื่องจากวัสดุครอบฟันของเด็กเป็นวัสดุที่ทำสำเร็จรูปอยู่แล้ว รวมทั้งครอบฟัน ราคาถูกกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย
คำถามเกี่ยวกับการครอบฟันที่พบบ่อย
ครอบฟัน อยู่ได้นานแค่ไหน?
ครอบฟันที่ทำจากโลหะทั้งชิ้นมีอายุการใช้งาน 15-20 ปีหรือมากกว่า ในขณะที่ครอบฟันจากเซรามิกทั้งชิ้น หรือโลหะเคลือบเซรามิกมีอายุการใช้งานที่ 10-15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณด้วย
ครอบฟันเจ็บไหม?
คุณอาจรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยขณะฉีดยาชา หลังจากนั้นการทำครอบฟันเป็นหัตถการที่คนไข้ส่วนใหญ่บอกว่าเจ็บน้อยกว่าที่คิด
อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถครอบฟันได้หรือไม่?
คุณสามารถทำครอบฟันได้ระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามเราแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนถึงกำหนดคลอดเนื่องจากท้องใหญ่ทำให้คุณอาจนอนนานๆ บนเตียงทันตกรรมได้ไม่สะดวกนัก
จำเป็นต้องรักษารากฟันก่อนครอบฟันหรือไม่?
คุณต้องทำการรักษารากฟันจนคุณหมอแน่ใจว่าการติดเชื้อ หรือการอักเสบในบริเวณคลองรากฟันถูกขจัดไปหมดสิ้นแล้ว ถึงจะสามารถทำครอบฟันได้
ปวดฟันที่ครอบควรทำอย่างไร?
การปวดฟันซี่ที่ทำครอบฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสบฟันสูงเกิดไป ครอบฟันไม่พอดีกับฐาน เหงือกอักเสบจากการระคายเคือง หรือแพ้ หากคุณเกิดอาการปวดหลังทำครอบฟันคุณควรรีบติดต่อคลินิก เพื่อให้คุณหมอประเมินอาการโดยเร็ว
ครอบฟันแตกควรทำอย่างไร?
ครอบฟันแตก หรือชำรุด อาจสามารถซ่อมได้ ควรรีบติดต่อคลินิก เพื่อให้คุณหมอตรวจประเมินอย่างละเอียดอีกครั้ง
ครอบฟันเบิกประกันสังคมได้ไหม?
ครอบฟัน เคี้ยวแล้วเจ็บ เกิดจากอะไร แก้ยังไง?
ครอบฟันใส่ซี่ไหนได้บ้าง?
สามารถครอบฟันได้ทุกซี่ทั้งฟันหน้าและฟันกราม ซึ่งการครอบฟันหน้า ส่วนใหญ่จะทำเพื่อความสวยงาม ส่วนการครอบฟันหลังหรือฟันกราม จะทำเพื่อใช้งานบดเคี้ยวอาหาร โดยไม่ว่าจะเป็นการครอบฟันหลัง หรือครอบฟันหน้า ราคาจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่เป็นส่วนประกอบ
ครอบฟันหน้า ราคาเท่าไหร่?
ครอบฟันหน้า ราคาจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่เป็นส่วนประกอบ ดังนี้
- ครอบฟันด้วยโลหะทั้งชิ้น (Base Metal) ราคา 10,000 บ.
- ครอบฟันด้วยโลหะผสมทองคำ (Gold Metal) ราคา 16,000-25,000 บ.
- ครอบฟันด้วยโลหะเคลือบเซรามิก (PFM Crown) ราคา 10,000-25,000 บ.
- ครอบฟันด้วยเซรามิกทั้งชิ้น (Zirconia) ราคา 16,000-18,000 บ.
- Dental Crowns: Why Would You Need One?., Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/10923-dental-crowns
- Dental crown procedure., Available from: https://www.healthdirect.gov.au/dental-crown-procedure
- Dental Crowns May Be Necessary After a Root Canal., Available from: https://www.verywellhealth.com/getting-a-dental-crown-1059036
- Dental Crown Types, Procedure, When It’s Done, Cost, and Aftercare., Available from: https://www.healthline.com/find-care/articles/dentists/dental-crown
- An Overview of Dental Crowns., Available from: https://www.webmd.com/oral-health/dental-crowns
- Dental Crowns | Tooth Crown Procedure | Bupa Dental Care., Available from: https://www.bupa.co.uk/dental/dental-care/treatments/fillings-crowns-veneers/crowns
บทความโดย
ทพ.อุรุพงศ์ ยรรยงเมธ
ปริญญาโท สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ม.มหิดล
ประกาศนียบัตรทันตกรรมจัดฟัน K-9 Orthodontic Center
ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล