เปิดวิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเอง บรรเทาอาการปวดก่อนพบทันตแพทย์
อาการปวดฟันนั้นเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกทรมาน นอกจากอาการปวดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหารได้ไม่เต็มที่ บางครั้งหากปวดมาก ๆ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการนอน แต่หากอาการปวดเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ในทันที เพราะเป็นวันหยุด ปวดในช่วงเวลากลางคืน หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเข้าใจวิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเองจึงมีความสำคัญอย่างมากในการบรรเทาอาการปวดชั่วคราวก่อนที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากทันตแพทย์
อาการปวดฟันแบบฉับพลันเกิดจากอะไร
อาการปวดฟันแบบฉับพลันคือภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดฟันขึ้นแบบฉับพลัน และมักส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดฟันแบบฉับพลัน ได้แก่
- ฟันผุลึกที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันแตกหรือร้าวจากอุบัติเหตุ
- ฟันคุดที่กำลังขึ้น
- การติดเชื้อที่รากฟันหรือเหงือก
- วัสดุอุดฟันที่หลุดหรือหลวม
- รากฟันอักเสบ
อาการปวดฟันแบบฉับพลันมักมาพร้อมกับอาการบวม เสียวฟันเมื่อสัมผัสกับอาหารร้อนหรือเย็น และอาจมีหนองหรือเลือดออกจากเหงือกในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง
5 วิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเองฉบับเร่งด่วน
เมื่อเกิดอาการปวดฟันอย่างฉับพลัน การรีบบรรเทาอาการปวด เพราะนอกจากจะทำให้คุณทรมานจากความปวดแล้ว หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษายังอาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลาม การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง เชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านทางกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นี่คือ 5 วิธีแก้ปวดฟันฉบับเร่งด่วนที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองก่อนไปพบทันตแพทย์
1. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด
การรับประทานยาแก้ปวดเป็นวิธีแก้ปวดฟันฉุกเฉินที่สะดวกและได้ผลรวดเร็ว สำหรับยาแก้ปวดที่นิยมใช้ได้แก่ พาราเซตามอล (อะเซตามิโนเฟน) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ไม่มีคุณสมบัติลดการอักเสบ หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน และแอสไพริน เป็นยาที่ช่วยทั้งบรรเทาปวดและลดการอักเสบได้ด้วย แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง ควรรับประทานยาตามขนาดที่ระบุบนฉลากและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา ควรรีบไปพบทันตแพทย์
2. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
การบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นเป็นวิธีแก้ปวดฟันแบบธรรมชาติที่ได้ผลดี เนื่องจากน้ำเกลือช่วยลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ โดยบ้วนปากประมาณ 30 วินาที ก่อนบ้วนทิ้ง ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง วันละ 3-4 ครั้ง น้ำเกลืออุ่นไม่เพียงช่วยแก้ปวดฟันเท่านั้น แต่ยังช่วยทำความสะอาดบริเวณที่อักเสบหรือติดเชื้อ ลดการบวมของเหงือก และช่วยให้แผลในช่องปากหายเร็วขึ้น ข้อควรระวังคือไม่ควรใช้น้ำร้อนหรือเย็นจัดเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้ปวดฟันมากขึ้น
3. ใช้น้ำมันกานพลู
น้ำมันกานพลูเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการแก้ปวดฟันแบบธรรมชาติที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาชาเฉพาะที่และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สามารถใช้ได้ง่าย ๆ โดยการหยดน้ำมันกานพลู 1-2 หยดลงบนสำลี แล้วนำไปแตะบริเวณที่ปวด ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที หรืออาจผสมน้ำมันกานพลู 2-3 หยดกับน้ำมันมะพร้าว 1/4 ช้อนชา แล้วนำไปทาบริเวณที่ปวด นอกจากช่วยแก้ปวดฟันแล้ว น้ำมันกานพลูยังช่วยลดกลิ่นปากและแก้ปัญหาเลือดออกตามไรฟันได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามควรใช้น้ำมันกานพลูอย่างระวัง ไม่ใช้น้ำมันกานพลูเข้มข้นเกินไปเพราะอาจระคายเคืองเนื้อเยื่อในช่องปากได้
4. ลดการกระแทกฟันซี่นั้น
การลดการกระทบกระแทกเป็นวิธีแก้ปวดฟันเชิงป้องกันที่สำคัญ ฟันที่มีอาการปวดมักมีเหงือกบวมร่วมด้วย มีโอกาสถูกกระแทกได้ง่ายเวลาเคี้ยวอาหาร ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวด้านที่มีฟันปวดจะช่วยลดอาการปวดได้มาก ยิ่งมีการกระแทกซ้ำ ๆ อาจทำให้การอักเสบและการติดเชื้อรุนแรงขึ้น ดังนั้นควรระมัดระวังเป็นพิเศษและหลีกเลี่ยงการใช้ฟันซี่นั้นในการเคี้ยวจนกว่าจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม
5. ไม่กระตุ้นอาการปวด
วิธีแก้ปวดฟันอย่างง่ายคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่อาจกระตุ้นประสาทฟันที่ไวต่อความรู้สึก เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด เช่น ไอศกรีม น้ำแข็ง กาแฟร้อน หรือน้ำซุปร้อน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด ก็อาจกระตุ้นอาการปวดฟันให้รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรง ๆ หรือใช้แปรงสีฟันที่แข็งเกินไป และควรทำความสะอาดช่องปากอย่างนุ่มนวล พร้อมทั้งเลือกรับประทานอาหารที่นุ่ม เคี้ยวง่าย และมีอุณหภูมิปานกลาง เพื่อไม่ให้กระตุ้นอาการปวดฟัน
สัญญาณอาการปวดฟันที่ต้องรีบพบทันตแพทย์
แม้ว่าวิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเองที่กล่าวมาจะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่เป็นเพียงการแก้ไขชั่วคราวเท่านั้น การพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อมีสัญญาณอันตรายต่อไปนี้
- อาการปวดรุนแรงและต่อเนื่องเกิน 2 วัน : หากมีอาการปวดรุนแรงติดต่อกันเกิน 2 วัน โดยที่อาการไม่ทุเลาลง แม้จะใช้วิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเองและรับประทานยาแก้ปวดแล้ว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดการติดเชื้อในโพรงประสาทฟันหรือฟันผุลึกที่ลุกลามมาก
- หน้าบวม : เมื่อเกิดปัญหาใบหน้าบวมร่วมกับอาการปวดฟันเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรุนแรง อาจเกิดจากฝีที่รากฟันหรือรากฟันอักเสบ
- มีไข้ : เมื่อมีไข้สูงควบคู่กับการปวดฟันเป็นอาการที่บ่งชี้ว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับการติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในช่องปากกำลังลุกลาม โดยเฉพาะไข้สูงเกิน 38.5°C ร่วมกับอาการหนาวสั่น ต้องรีบรับการรักษาทางการแพทย์ทันที
- เลือดออก มีของเหลวไหลออกมา : หากมีอาการปวดฟันควบคู่กับการที่เลือดไหล มีของเหลว หรือหนองไผลออกจากบริเวณฟันที่ปวดเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรุนแรง
- อ้าปากหรือกลืนอาหารลำบาก : ปัญหาในการอ้าปากหรือกลืนอาหารลำบากร่วมกับอาการปวดฟันอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่ลุกลามถึงกล้ามเนื้อขากรรไกร เรียกว่า ภาวะทริสมัส (Trismus) ที่หากติดเชื้อรุนแรงอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้
สรุป
อาการปวดฟันฉุกเฉินเป็นประสบการณ์ที่ทรมาน การรู้วิธีแก้ปวดฟันด้วยตัวเองเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาแก้ปวด บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำมันกานพลู และไม่กระตุ้นอาการปวด จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดชั่วคราวก่อนพบทันตแพทย์ อย่างไรก็ตามวิธีการบรรเทาอาการปวดเหล่านี้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ การพบทันตแพทย์เป็นการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย สำหรับใครที่มีปัญหาปวดฟัน อย่าปล่อยทิ้งไว้ สามารถเข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ได้ที่ Smile Seasons เพื่อปรึกษาและรับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที