ฟันเหยินเกิดจากอะไร จัดฟันดีไหม ดูวิธีแก้ฟันเหยิน ปากอูมจากหมอฟัน
ฟันเหยิน เป็นการเรียงตัวที่ผิดปกติของฟันแบบหนึ่งที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความสวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของช่องปากและสุขภาพโดยรวมของคุณได้อย่างคาดไม่ถึง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ฟันเหยินแล้วมีอาการปวดขากรรไกร ฟันผุบ่อยๆ เนื่องจากรักษาสุขอนามัยช่องปากได้ไม่ดี คุณอาจจำเป็นต้องเข้ามาพบคุณหมอโดยเร็ว บทความนี้ Smile Seasons ของเราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับภาวะฟันเหยินว่าคืออะไร เมื่อไหร่ที่ต้องมาพบคุณหมอ และมีวิธีการรักษาอย่างไร ตามอ่านรายละเอียดที่นี่ได้เลย
ฟันเหยินเป็นอย่างไร
ฟันเหยิน (Overbite) คือ ภาวะของฟันบนที่ไม่งอกออกมาตามแนวตรงตามปกติ แต่กลับกลายเป็นฟันยื่นออกมาในองศาที่มีความเอียงไปด้านหน้าแทน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่างไม่สามารถสบกันตามปกติได้ ซึ่งระดับความรุนแรงของการยื่นออกมาจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าหากยื่นออกมาเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ถ้าหากยื่นออกมามากจนเกินไปจนทำให้ฟันไม่สบกันจนเป็นปัญหา ก็ควรเข้ารับการรักษาจะดีที่สุดเพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดฟันเหยินคืออะไร
สาเหตุของการเกิดฟันเหยิน เกิดจาก 5 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
กรรมพันธุ์
หากบุคคลในครอบครัวมีภาวะฟันเหยินมาก่อน ภาวะนี้อาจส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมมาสู่รุ่นลูกและหลานได้
พฤติกรรมที่ทำจนเกิดเป็นนิสัย
พฤติกรรมบางอย่างที่ทำมาตั้งแต่ในวัยเด็ก เช่น การดูดนิ้ว การติดการดูดจุกนม การใช้ลิ้นดุนฟัน หรือการกัดฟัน อาจส่งผลให้เกิดภาวะฟันเหยินได้
ความผิดปกติของฟัน
การสูญเสียฟันน้ำนมหรือฟันหน้า การมีรูปร่างฟันที่ผิดปกติ รวมไปถึงการงอกขึ้นของฟันที่ผิดปกติและภาวะเหงือกอักเสบ อาจส่งผลให้ฟันเกิดการเบียดตัวกันและดันให้ฟันหน้ายื่นออกมาได้
ความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า
หากกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารมีความผิดปกติเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ขากรรไกรล่างโดนดึงเข้าสู่ช่วงด้านในปาก ขากรรไกรบนจึงคร่อมลงบนขากรรไกรล่าง ทำให้เกิดภาวะฟันเหยินได้
ความผิดปกติของกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
กระดูกขากรรไกร ฐานกะโหลกส่วนหลัง หรือกระดูกเบ้าฟันที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะฟันเหยินได้
ผลกระทบของการเกิดฟันเหยิน
การมีภาวะฟันเหยินเพียงเล็กน้อย อาจไม่ส่งผลอะไรต่อร่างกายมากมายนักแต่อาจทำให้เกิดการสูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เวลาพูดหรือยิ้ม แต่ถ้าหากมีภาวะฟันเหยินค่อนข้างมาก อาจส่งผลต่อข้อต่อขากรรไกร การอ้าปาก การหุบปาก และเหงือกอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหรือมีเสียงดังขณะที่อ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร รวมไปถึงการสบของฟันล่างที่กัดเข้ากับบริเวณเพดานปากทำให้มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นอีกด้วย
ขั้นตอนการเข้ารับการวินิจฉัยฟันเหยินจากทันตแพทย์
หากมีภาวะฟันเหยิน ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อประเมินระดับความรุนแรงว่ามากหรือน้อย และประเมินว่าภาวะฟันเหยินนี้เกิดจากอะไร มีความผิดปกติใดร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
วิธีการรักษาอาการฟันเหยิน
การรักษาอาการฟันเหยินจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งวิธีการรักษาออกเป็น 2 วิธี ดังนี้
รักษาด้วยวิธีจัดฟัน
การรักษาด้วยวิธี จัดฟัน สามารถใช้ได้ทั้งการจัดฟันแบบเหล็กและการจัดฟันแบบใส วิธีการนี้มักใช้กับเด็กหรือวัยรุ่นซึ่งยังอยู่ในวัยที่ร่างกายสามารถเจริญเติบโตได้ หรือในกลุ่มคนที่อาการไม่รุนแรงมากจนเกินไปและสามารถแก้ไขได้จากการจัดฟันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสม การรักษาด้วยวิธีจัดฟันนี้จะเป็นการรักษาที่ใช้สำหรับการดึง ดัน หรือกดฟันให้เข้าที่เป็นส่วนใหญ่
รักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด มักใช้สำหรับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภาวะฟันเหยินที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของใบหน้า กะโหลกศีรษะ และขากรรไกร ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพียงเท่านั้น
ฟันเหยิน มีวิธีป้องกันหรือไม่
เนื่องจากภาวะฟันเหยินเป็นภาวะที่เกิดจากกรรมพันธุ์ จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถป้องกันภาวะฟันเหยินที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำเป็นประจำได้ เช่น การดูดนิ้ว การใช้ลิ้นดุนฟันหน้า และการดูดจุกนม การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะฟันเหยินได้ และการเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ตั้งแต่ยังเด็กถ้าหากสังเกตเห็นว่าเริ่มมีภาวะฟันเหยิน ก็จะสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน
สรุป
ภาวะฟันเหยินอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากนักหากไม่ได้เป็นหนักมากจนเกินไป แต่ก็อาจส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจได้มากกว่าที่คิด ดังนั้น การเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อประเมินอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงสามารถช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับคนที่สนใจติดต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการปรึกษาเกี่ยวกับภาวะฟันเหยิน สามารถติดต่อ Smile Seasons ได้เลยที่ LINE @smileseasons.dc หรือโทร 02-114-3274
- Overjet Vs. Overbite: What’s The Difference?., Available from: https://www.colgate.com/en-us/oral-health/early-orthodontics/overjet-vs-overbite-whats-the-difference
- Overbite Vs Normal Bite: Differences, Causes, And Treatment., Available from: https://pvpd.com/overbite-vs-normal/
- Overbite: Understanding the Overbite and How to Correct it., Available from: https://www.ericdavisdental.com/faqs-and-blog/blog/overbite-understanding-the-overbite-and-how-to-correct-it/
บทความโดย
ทพ.สาริศ บุณยพิพัฒน์
Certificate of Training Orthodontic – Advance Orthodontic Society
ทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย