ทันตกรรมเด็ก

คลินิกทันตกรรมเด็กแบบครบวงจร หมอฟันเด็กใจดี มือเบา

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพฟันของบุตรหลานของคุณ ทันตกรรมสำหรับเด็ก หรือ Pediatric Dentistry เป็นสาขาทางทันตกรรมเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในการให้ความรู้ และรักษาโรคสำหรับเด็ก คุณหมอฟันเด็กมีความเชี่ยวชาญในการให้การดูแลเด็กๆ ที่มีพัฒนาแตกต่างกันในแต่ละวัย อีกทั้งยังสามารถปรับพฤกติกรรมของเด็กๆ ให้ผ่อนคลายและให้ความร่วมมือในการทำฟัน

เราให้บริการทันตกรรมเด็กที่หลากหลาย รวมถึงการดูแลป้องการ การรักษาบูรณะ และการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยช่องปากของน้องๆ ให้กับผู้ปกครองเช่นคุณ ในบทความนี้เราจะสำรวจความสำคัญของทันตกรรมสำหรับเด็ก ปัญหาและการรักษาต่างๆ ที่บุตรหลานของคุณอาจต้องเจอ รวมถึงเคล็ดลับในการปลูกฝังนิสัยในการรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดีให้กับน้องๆ

หัวข้อที่น่าสนใจ

ทันตกรรมเด็กคืออะไร

มีคำกล่าวทางการแพทย์ที่ว่า ‘เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก’ ซึ่งในมุมมองของทันตแพทย์ ก็ต้องบอกว่าเป็นวลีที่เป็นความจริง เพราะเด็กมีความต้องการ และการดูแลพิเศษทางทันตกรรมที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ 


ทันตกรรมเด็กเป็นสาขาเฉพาะทางของการดูแลช่องปากและฟันที่มุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยเด็ก ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยรุ่น ทันตแพทย์เด็ก หรือหมอฟันเด็กได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเพื่อทำงานกับเด็ก และเข้าใจความต้องการ รวมถึงความกังวลของน้องๆ นอกจากนี้ทันตแพทย์เด็กยังเชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมเพื่อให้สามารถทำหัตถการทางทันตกรรมให้กับน้องๆ ได้อย่างราบรื่น

ทำไมต้องเลือกคลินิกทำฟันที่มีหมอฟันเด็กโดยเฉพาะ

หมอฟันเด็ก หรือทันตแพทย์เด็ก เป็นทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก ดังนั้นคุณหมอจะมีหลักจิตวิทยาในการสื่อสารเพื่อลดความกลัวในการทำฟันและสร้างความผ่อนคลายระหว่างทำฟัน เนื่องจากเด็กบางคนไม่เคยพบหมอฟันมาก่อน อาจเกิดความกลัวและวิตกกังวลได้ โดยคุณหมอจะมีวิธีรับมือกับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนให้สามารถทำฟันได้สำเร็จ นอกจากนี้หมอฟันเด็กยังสามารถแนะนำวิธีดูแลฟันให้กับน้องๆ และคุณพ่อคุณแม่ได้ถูกวิธีและเข้าใจง่ายอีกด้วย

การดูแลฟันเด็กในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น

ทันตกรรมเด็กในแต่ละช่วงวัย

1. ทันตกรรมเด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี

  • ทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับควาดผิดปกติในช่องปาก เช่น ภาวะลิ้นติด หรือริมฝีปากติด (tongue ties, lip ties) ซึ่งอาจทำให้ดูดนมได้ไม่ดี หรือสร้างความเจ็บปวดให้กับมารดาระหว่างให้นมได้ ซึ่งหากได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ก็จะทำให้ทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกับน้ำหนัก และการเจริญเติบโตของน้องๆ ในอนาคตได้
  • คุณควรพาบุตรหลานมาพบคุณหมอ ก่อนหรือเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินขวบปีแรก
  • โดยทั่วไปฟันซี่แรกจะขึ้นเมื่อทารกมีอายุได้ 6-8 เดือน การรักษาความสะอาดในช่วงก่อนฟันขึ้นทำให้ง่ายๆ ด้วยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดบริเวณเหงือกหลังจากดูดนมอิ่มแล้ว เมื่อฟันเริ่มขึ้นคุณสามารถใช้แปรงสีฟันขนนุ่มขนาดเล็กแปรงเบาๆ ได้
  • ในช่วงแรกนี้เด็กๆ จะเริ่มเปลี่ยนจากการดูดนมอย่างเดียวไปเป็นอาหารอ่อนๆ คุณควรเตรียมอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนมที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจส่งผลต่อฟันรวมถึงสุขภาพโดยรวมของทารก
  • ในช่วง 2 ขวบปีแรกของชีวิต เด็กๆ ยังเดินได้ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การบาดเจ็บเกี่ยวกับฟันจึงเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย คุณควรรีบพาเด็กๆ มาพบคุณหมอในทันที เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อฟันแท้ในอนาคตได้

2. ทันตกรรมเด็ก ในวัยเด็กเล็ก (3-5 ปี)

  • ในช่วงนี้ฟันน้ำนมจะทยอยขึ้นมาครบทุกซี่ จากสถิติเราพบว่าเกือบครึ่งของเด็กในวัยอนุบาลเริ่มมีฟันผุอย่างน้อย 1-2 ตำแหน่งก่อนจะเริ่มเข้าเรียน เราจึงอยากเน้นย้ำความสำคัญของการแปรงฟัน และการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้กับเด็กๆ
  • เราแนะนำให้ใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ซึ่งมีความเข้มข้นพอเหมาะ บีบไม่ต้องมาก ประมาณเท่าเม็ดถั่วต่อการแปรงฟันหนึ่งครั้งก็พอ ในช่วงนี้เราอยากให้คุณเริ่มใช้ไหมขัดฟันให้กับเด็กๆ ด้วย แม้ว่าเด็กในวัยนี้มักเริ่มอยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่คุณก็ควรช่วยแปรงฟันให้ หมั่นกำชับ และตรวจสอบว่าบุตรหลานของคุณได้ทำความสะอาดช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพ และสม่ำเสมอหรือไม่
  • พฤติกรรมดูดนิ้ว หรือจุกขวดนม ควรได้รับการแก้ไขเมื่อเข้าถึงวัยนี้ เพราะอาจส่งผลถึงการเจริญเติบโตของฟัน กระดูกใบหน้า และขากรรไกรได้
  • การบาดเจ็บต่อฟันพบได้เยอะเช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุคุณควรรีบพาเด็กๆ มาพบคุณหมอ กรณีที่ฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาที่ฟันแท้จะขึ้น คุณหมออาจจะต้องใส่เครื่องมือพิเศษเพื่อไม่ให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มลงมาจนทำให้ฟันแท้ไม่สามารถขึ้นได้

3. ทันตกรรมเด็ก ในวัยประถมถึงมัธยม (6-11 ปี)

  • ในวัยนี้ฟันแท้จะเริ่มขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมที่หลุดไป สามารถเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันสูตรของผู้ใหญ่ได้ และคุณสามารถให้เด็กๆ รับผิดชอบการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันด้วยตัวเอง โดยคุณยังต้องคอยตรวจสอบเป็นระยะได้
  • การที่บุตรหลานของคุณไปโรงเรียน จึงทำให้ควบคุมเรื่องอาหารและขนมลำบากมากขึ้น หากไม่ดูแลเรื่องการทำความสะอาดให้ดีก็จะทำให้ฟันผุง่าย การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นการรักษาสำคัญที่จะมีส่วนช่วยป้องกันฟันผุได้
  • ในบางกรณีหากคุณหมอตรวจพบการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติและอาจส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่นๆ คุณหมออาจแนะนำให้เด็กๆ เริ่มจัดฟันเร็วกว่าปกติ เพื่อแก้ไขและลดโอกาสที่ฟันจะเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ทำให้การจัดฟันในอนาคตมีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถอ่านบทความ จัดฟัน เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก!
  • หากบุตรหลานของคุณชื่นชอบการเล่นกีฬา คุณควรพามาทำเฝือกใส่ฟัน และแนะนำให้ใส่ขณะเล่นกีฬา เพื่อป้องกันหรือลดการบาดเจ็บต่อฟัน รวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงในกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

4. ทันตกรรมเด็ก ในเด็กวัยรุ่น (12-16 ปี)

  • เมื่อถึงวัยรุ่น ส่วนใหญ่ฟันน้ำนมจะหลุดออกไปเรียบร้อย และฟันแท้จะขึ้นทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นฟันกรามบางซี่) ฟันชุดนี้เป็นฟันที่จะอยู่กับบุตรหลานของคุณไปตลอดชีวิต จึงควรได้รับการดูแลอย่างดี ในวัยยนี้คุณจะเริ่มไม่สามารถควบคุมประเภทของอาหาร และการทำความสะอาดช่องปากของเด็กๆ ได้เหมือนเมื่อก่อน การเคลือบหลุมร่องฟันจึงยังมีความสำคัญโดยเฉพาะในฟันกรามซี่ที่เพิ่งขึ้น
  • วัยนี้เป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มจัดฟัน เพราะกระดูกขากรรไกรยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต การจัดฟันสามารถแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติมากๆ ได้ ซึ่งหากรอจนถึงวัยผู้ใหญ่อาจทำได้ยากมากขึ้น หรืออาจมีความจำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด
  • กีฬาที่บุตรหลานของคุณเล่น อาจมีการกระทบกระทั่งที่สูงขึ้น ผาดโผนมากขึ้น การใช้เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจึงยิ่งมีความสำคัญ
  • ในช่วงปีท้ายๆ ของวัยรุ่น เด็กๆ อาจเริ่มประสบปัญหาของฟันคุดได้เช่นกัน
บริการทันตกรรมเด็ก

บริการทันตกรรมเด็ก

เด็กๆ มีความต้องการทางทันตกรรมที่ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ โครงสร้างฟัน ขากรรไกรและช่องปากของเด็กๆ นั้นอยู่ในช่วงเจริญเติบโต และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป้าหมายหลักของทันตกรรมเด็กคือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมขึ้นตั้งแต่แรก โดยบริการทันตกรรมเด็กจะมีตั้งแต่มาตราการป้องกันง่ายๆ เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน หรือการเคลือบฟลูออไรด์ ไปจนถึงการรักษาที่ซับซ้อนขึ้นเช่นการอุดฟัน การรักษาคลองรากฟัน หรือแม้แต่ทันตกรรมจัดฟัน

ทันตกรรมเด็ก เคลือหลุมร่องฟัน

1. การเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant)

การเคลือบหลุมร่องฟัน หรือ Sealant เป็นการรักษาเชิงป้องกันที่สำคัญ และพบว่าสามารถลดฟันผุลงได้เกือบ 80%

 

Sealant เป็นวัสดุทางทันตกรรมที่มีสีใสคล้ายกับพลาสติก คุณหมอสามารถนำมาทาบนฟันได้ โดยใช้เวลาในการเคลือบเพียง 2-3 นาทีต่อซี่ และ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ เมื่อเซ็ทตัว sealant จะติดแน่นอยู่ที่ด้านบดเคี้ยวของฟัน และทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์ และเศษอาหาร ซึ่งเป็นตัวการของฟันผุ นิยมทำในฟันกราม ซึ่งจะขึ้นชุดแรกเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ และเด็กๆ มักแปรงฟันไปไม่ถึง

2. การเคลือบฟลูออไรด์

การเคลือบฟลูออไรด์ ถือเป็นทันตกรรมป้องกันที่สำคัญในเด็กทุกช่วงอายุ รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ฟลูออไรด์มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเนื้อฟัน ทำให้สามารถต่อสู้กับแบคทีเรีย และกรดที่ทำลายเนื้อฟันได้ 

 

นอกจากการการเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์แล้ว เด็กๆ สามารถรับฟลูออไรด์ได้จากยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ฟันที่แข็งแรงนั้นมีโอกาสผุน้อยกว่ามาก

3. การทำความสะอาด และขูดหินปูน

เด็กๆ ควรได้รับการตรวจสุขภาพฟัน และขูดหินปูนทุก 6 เดือน การขูดหินปูนจะช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนซึ่งไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยตัวเองที่บ้านโดยเฉพาะในเด็ก

 

คุณควรพาเด็กๆ เข้ามาพบคุณหมอฟันเด็ก เมื่อฟันซี่แรกขึ้น โดยไม่ควรรอนานเกินกว่า 1 ขวบ โดยการพบคุณหมอในช่วงแรกคุณหมออาจจะยังไม่ได้ขูดหินปูนให้ แต่เป็นการตรวจและคอยเฝ้าระวังปัญหาทางทันตกรรมที่อาจเกิดขึ้นกับฟันของเด็กๆ รวมทั้งเพื่อให้ คุ้นเคยกับการมาพบคุณหมอฟันตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งสามารถลดอาการกลัวหมอฟันลงได้ ทำให้การ ขูดหินปูน หรือการรักษาอื่นๆ ในอนาคตเป็นไปโดยราบรื่นยิ่งขึ้น

4. ถอนฟันน้ำนม

การถอนน้ำนมนั้นพบได้ไม่บ่อย และมักใช้เป็นตัวเลือกสุดท้ายในการรักษา โดยจะถอนฟันในกรณีที่ฟันผุใหญ่หรือลึกมาก หรือในบางกรณีเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับฟันแท้สามารถขึ้นมาอย่างปกติ

5. การอุดฟันน้ำนม

เนื่องจากเด็กๆ ฟันผุได้ง่าย นอกจากขูดหินปูนแล้ว การอุดฟันน้ำนมก็เป็นการรักษาที่พบบ่อยในเด็ก วัสดุที่นำมาอุดฟันมีให้เลือกหลากหลายทั้งคอมโพสิตเรซินที่มีสีคล้ายฟัน อมัลกัมที่มีสีเหมือนโลหะ นิยมใช้ในฟันกรามที่ต้องการความแข็งแรงทนต่อแรงบดเคี้ยว หรือวัสดุที่ทำจากกลาสไอโอโนเมอร์ซึ่งนิยมใช้อุดบริเวณคอฟัน หรือตำแหน่งใต้เหงือก

6. ครอบฟันน้ำนม

โดยทั่วไป ครอบฟัน เป็นทันตกรรมบูรณะที่พบในผู้ใหญ่ได้บ่อยกว่า การทำครอบฟันน้ำนมจะใช้ในกรณีที่ฟันได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง หรือโครงสร้างของฟันอ่อนแอ จากการผุ อุบัติเหตุ และใช้ในกรณีที่การรักษาอื่นๆ เช่นการอุดฟันไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูการทำงาน หรือรูปลักษณ์ของฟัน นอกจากนั้นยังใช้ในฟันหลังได้รับการ รักษารากฟัน ไปแล้ว

7. ใส่เครื่องมือกันฟันน้ำนมล้ม

เมื่อฟันหลุดออก ฟันซี่ข้างเคียงอาจล้มลงมาในช่องว่าง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ต้องจัดฟันในอนาคตได้ บางครั้งคุณหมอจึงจำเป็นต้องใส่เครื่องมือพิเศษเพื่อรักษาช่องว่างเอาไว้ให้ฟันแท้มีพื้นที่ในการขึ้นได้อย่างปกติ เครื่องมือกัน ฟันล้ม ในเด็กนั้นทำจากพลาสติกหรือโลหะ ที่ถูกผลิตขึ้นมาให้พอดีกับช่องว่าง และเด็กๆ ก็สามารถปรับตัวให้ชินได้อย่างรวดเร็ว

8. การจัดฟันในเด็ก

ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เหมาะสมในการแก้ไขการเรียงตัวของฟัน หรือการสบฟันที่ผิดปกติ การจัดฟันในเด็กทำได้ง่ายกว่า เสียเวลาน้อยกว่า มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการรอจนกระดูกขากรรไกรเจริญเติบโตเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่แล้วค่อยเริ่มการจัดฟัน เด็กๆ มีตัวเลือกทั้งการ จัดฟันแบบโลหะ และการจัดฟันแบบใส ซึ่งทั้งคู่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับบุตรหลานของคุณได้

ทันตกรรมเด็ก vs ทันตกรรมผู้ใหญ่ ต่างกันยังไง

เด็กและผู้ใหญ่มีความต้องการทางทันตกรรมที่แตกต่างกัน ประการแรกคือการให้ความสำคัญกับการดูแลเชิงป้องกัน หรือ Preventive Dentistry สำหรับเด็กแล้ว การดูแลฟันมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาทางทันตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก สิ่งนี้รวมถึง การปลูกฝังนิสัยในการรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดี เช่น การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ การใช้มาตรการป้องกันต่างๆ เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน (sealant) ในทางตรงกันข้าม การรักษาทางทันตกรรมของผู้ใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การอุดฟัน การครอบฟัน หรือการรักษาคลองรากฟัน

 

ความแตกต่างอีกประการระหว่างทันตกรรมเด็กและทัตกรรมผู้ใหญ่ คือแนวทางในการรักษาคือ เด็กต้องการวิธีการที่แตกต่างออกไปเนื่องจากฟันและกระดูกขากรรไกรยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต และพัฒนาไม่เต็มที่ ทันตแพทย์เด็กได้รับการฝึกฝนให้ใช้อุปกรณ์ และเทคนิคพิเศษที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับช่องปากที่เล็กกว่า และฟันที่บอบบางกว่าของเด็ก นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความต้องการทางอารมณ์ และพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อการวางแผนการรักษา

 

บางครั้งเด็กๆ ยังมีความกลัว และบางครั้งอาจไม่สามารถควบคุม หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในการทำหัตถการทางทันตกรรมได้ หมอฟันเด็กต้องมีจิตวิทยา และเทคนิคในการดูแล บริหารจัดการ และปรับพฤติกรรมของเด็กๆ เพื่อให้สามารถทำฟันได้สำเร็จ

 

ท้ายที่สุดคือ ประเภทของปัญหาทางทันตกรรมเด็ก และผู้ใหญ่เผชิญอาจมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เด็กๆ อาจมีโอกาสฟันผุได้ง่ายกว่า เนื่องจากยังแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจรับประทานอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ส่วนผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะเป็นโรคเหงือก ฟันสึก และการบาดเจ็บทางทันตกรรมที่เกี่ยวกับปัจจัยด้านอายุที่มากขึ้น อาหาร หรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

ทันตแพทย์เด็กมีเทคนิคในการจัดการเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำฟันอย่างไร?

เทคนิคทำทันตกรรมเด็ก

หมอฟันเด็กมีความเชี่ยวชาญ และมีเทคนิคต่างๆ เพื่อจัดการกับพฤติกรรมของเด็กในระหว่างการรักษาทางทันตกรรม ยกตัวอย่างเช่น

 

  1. เทคนิค Tell-Show-Do เป็นวิธีการที่ใช้บ่อยโดยคุณหมอจะใช้เทคนิคนี้เพื่ออธิบายขั้นตอนต่างๆ ในการทำฟันแบบง่ายซึ่งเด็กๆ สามารถเข้าใจได้ เทคนิคนี้ประกอบด้วยการบอกว่าจะทำอะไร เอาเครื่องมือทันตกรรมให้ดู หลังจากนั้นค่อยเริ่มการรักษา
  2. เทคนิคให้รางวัล – คุณหมออาจมีรางวัลมาล่อใจ ให้เด็กๆ ร่วมมือในการรักษา โดยรางวัลนี้อาจจะเป็น คำพูดชมเชย สติ๊กเกอร์ ลูกโป่ง หรือของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้
  3. เทคนิคเบี่ยงเบนความสนใจ – คุณหมอจะใช้ดนตรี การเปิดการ์ตูน หรือการเล่าเรื่องเพื่อลดความกลัว และดึงความสนใจให้ออกห่างจากการทำฟัน
  4. การใช้แก๊สหัวเราะ หรือ Nitrous Oxide – ในบางครั้งคุณหมอจะใช้แก๊สทางการแพทย์ที่เรียกว่า Nitrous Oxide หรือที่รู้จักกันในชื่อแก๊สหัวเราะ เพื่อทำให้เด็กผ่อนคลายลงระหว่างทำฟัน Nitrous Oxide มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สูง หากคุณหมอตัดสินใจจะใช้แก๊สชนิดนี้ คุณจะได้รับการพูดคุยก่อน
  5. การใช้ยาชา – สำหรับหัตถการที่มีความเจ็บปวดอย่างเช่นการถอดฟัน คุณหมอจะให้ยาชาก่อนเริ่มทำหัตถการ ซึ่งมีทั้งแบบทา และแบบฉีด ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ไม่เจ็บขณะทำฟัน
  6. เทคนิคห่อตัวเด็ก – มักถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย โดยคุณหมออาจมีความจำเป็นต้องห่อและล๊อคตัวเด็กให้อยู่นิ่ง ระหว่างทำฟัน โดยมักใช้บอร์ดกระดาน และผ้าห่อพิเศษ ซึ่งถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับทำหัตถการในเด็ก

ค่าบริการทันตกรรมเด็ก

ค่าบริการทันตกรรเด็ก
การรักษา

ค่าบริการ

เคลือบฟลูออไรด์ 600-700
ขูดหินปูน ขัดฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ 800-1,200
เคลือบหลุมร่องฟัน (ซี่ละ) 600
อุดฟันน้ำนม ด้านละ (ต่อไปเพิ่มด้านละ 400-500) 800-900
ถอนฟันน้ำนม 400-700
รักษารากฟันน้ำนม 2,500-3,000
ครอบฟันน้ำนม 3,000-3,500
เครื่องมือป้องกันฟันล้ม 3,500-4,000

แพคเกจทันตกรรมเด็ก

แพคเกจทันตกรรมเด็ก

ให้น้องๆ สุขภาพฟันดี ยิ้มสวย ไร้ฟันผุด้วยแพคเกจทันตกรรมเด็กราคา 3,500 บ.

เลือกคลินิกหมอฟันเด็กที่ไหนดี

  • เลือกคลินิกทำฟันเด็กที่ได้มาตรฐาน ทันตแพทย์มีความเชี่ยวชาญ จบเฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก
  • เลือกคลินิกทำฟันเด็กที่สะอาด ปลอดภัย และดูน่าเชื่อถือ
  • เลือกคลินิกทันตกรรมเด็กที่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก
  • เลือกคลินิกที่คุณหมอฟันเด็กใจดี มือเบา ใจเย็น
  • ดูรีวิวจากผู้ใช้บริการจริง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับทันตกรรมเด็ก

คำถามที่พบได้บ่อยในทันตกรรมเด็ก

คุณควรพาน้องๆ มาพบคุณหมอเมื่ออายุครบ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรืออย่างน้อยภายในขวบปีแรก

การมาพบคุณหมอฟันเด็กในครั้งแรก คุณหมอจะตรวจช่องปากและฟันอย่างละเอียดเพื่อค้นหาปัญหาทางทันตกรรมเด็กที่อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา คุณหมอจะทำความสะอาดฟัน และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กๆ ในกับคุณอีกด้วย

ฟลูออไรด์มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน และต่อต้านฟันผุได้ การเคลือบฟลูออไรด์ และการเลือกใช้ยาสีฟันที่มีความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กๆ

ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการเอ็กเรย์ฟันนั้นต่ำมาก จนไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ กับบุตรหลานของคุณ อย่างไรก็ตามคุณหมอก็จะพิจารณาส่งเอ็กซเรย์ตามความจำเป็นและความเหมาะสม

มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจระหว่างการนัดหมายกับคุณหมอฟัน เช่น การอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างที่อยู่บนเตียงทำฟัน นำของเล่น หรือตุ๊กตาที่เด็กๆ ชอบมาด้วย ให้คำชื่นชม และรางวัล เมื่อน้องๆ ให้ความร่วมมือในการทำฟันเป็นอย่างดี

ควรพาเด็กๆ ไปพบหมอฟันเด็กทุกๆ 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากของน้องๆ หากมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง อาจต้องพบคุณหมอบ่อยขึ้น

สรุปทันตกรรมเด็ก

เด็กมีความต้องการพิเศษทางทันตกรรมเด็กที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยเน้นหนักในเรื่องการดูแลเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมตั้งแต่แรก การตัดสินใจและวางแผนการรักษาก็แตกต่างเพราะฟันและกระดูกยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต

ที่ Smile Seasons เรามีทันตแพทย์เด็กซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางของคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทันตกรรมเด็กที่เกิดขึ้นในเด็ก น้องๆ จะได้รับการดูแลโดยคุณหมอฟันเด็กที่เข้าใจพัฒนาการตามวัยของน้องๆ รวมถึงมีเทคนิคในการปรับพฤติกรรม และจัดการกับความเครียดของเด็กที่เกิดขึ้นระหว่างทำฟัน
 
หากคุณกำลังค้นหาคลินิกทันตกรรมเฉพาะทางด้านเด็กให้กับบุตรหลานของคุณ สามารถทำนัดกับเราได้ เพียงลงทะเบียนที่แบบฟอร์มด้านล่างนี้ และรอการติดต่อจากทีมงานของเรา หรือ โทร 02-114-3274 ,LINE @smileseasons.dc
 
อ้างอิง

บทความโดย

Picture of ทพญ.พิชารัตน์ เดชะชาติ

ทพญ.พิชารัตน์ เดชะชาติ

ปริญญาโท สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก ม.มหิดล
ประกาศนียบัตรทันตกรรมจัดฟัน K-9 Orthodontic Center
ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล

ทันตกรรมเด็ก

พาน้องๆ มาหาคุณหมอ

เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการตอบคำถาม ข้อสงสัย ประเมินค่าใช้จ่าย ทำนัดปรึกษากับคุณหมอ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เจ้าหน้าที่ของเราจะรีบติดต่อกลับไปให้ข้อมูลคุณโดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้