ฟันผุเกิดจากอะไร ปล่อยทิ้งไว้อันตรายกว่าที่คิด
ฟันผุ โรคทางทันตกรรมที่ทุกคนรู้จักดี โรคฟันผุดูเหมือนจะเป็นปัญหาเล็กน้อย และอาจไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในช่วงแรก แต่หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว คุณหมอรับรองว่าโรคฟันผุจะลุกลาม และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันอื่นๆ ตามมาให้คุณต้องปวดหัวอย่างแน่นอน วันนี้คุณหมอจะพาทุกคนมาทำความรู้จักฟันผุ หรือปัญหาช่องโพรงในฟันกันแบบทะลุปรุโปร่ง ทั้งสาเหตุ การแบ่งระยะความรุนแรง การรักษา และค่าใช้จ่าย พร้อมแล้วลุยกันเลย
ฟันผุคืออะไร
ฟันผุ (Dental caries, Tooth decay, Cavities) เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย โดยมีการสูญเสียแร่ธาตุในชั้นเคลือบฟัน ทำให้เกิดเป็นช่องโพรงในฟัน สาเหตุหลักเกิดจากแบคทีเรียก่อโรคที่อยู่ในช่องปาก บวกกับเศษอาหารโดยเฉพาะพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ก่อให้เกิดของเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งสามารถกัดกร่อนชั้นเคลือบฟันให้สึกได้
หากคุณปล่อยโรคฟันผุทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เกิดปัญหาขนาดใหญ่ และลึกมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมอื่นๆ ตามมา เช่น ปวดฟัน เสียวฟัน การติดเชื้อ จนถึงอาจสูญเสียฟันได้
การรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดี การรับประทานอาหารที่สมดุล และการเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือนถือเป็นการป้องกันโรคฟันผุที่ดีที่สุด
ฟันผุเกิดจากอะไร
1. แบคทีเรียก่อโรคในช่องปาก
แบคทีเรียชื่อยาวๆ อย่าง Streptococcus Mutans เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ โดยแบคทีเรียขนิดนี้เจริญเติบโตจากเศษอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต (แป้ง และน้ำตาล) สูงๆ เมื่อทำปฏิกิริยากับอาหาร จะทำให้เกิดสารที่เป็นกรดมาทำร้ายชั้นเคลือบฟันได้
2. อาหารและเครื่องดื่ม
อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น อาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล จะยิ่งทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุมากขึ้น เนื่องจากถูกย่อยเป็นกรดได้ง่าย ยิ่งคุณกินอาหารหวานมาก ดื่มน้ำอัดลมบ่อย ๆ ความเสี่ยงก็จะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาหาร หรือเครื่องดื่มที่เป็นกรดก็สามารถทำร้ายชั้นเคลือบฟันได้ เช่น น้ำมะนาว มะม่วงหาวมะนาวโห่ การดื่มน้ำอัดลมย่อย อาหารที่มีรสเปรี้ยวมากๆ เป็นต้น
3. คราบจุลินทรีย์
ชั้นเคลือบฟันเต็มไปด้วยแร่ธาตุ ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความแข็งแรงมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุสำคัญๆ สามารถถูกสลายออกมาได้ในสภาวะที่เป็นกรด หรือที่เราเรียกว่า Demineralization ซึ่งกรดในช่องปากสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยของฟันผุในข้ออื่นๆ ที่กล่าวมา และเมื่อสูญเสียแร่ธาตไป โครงสร้างของชั้นเคลือบฟันก็จะอ่อนแอลง และง่ายต่อการผุกร่อนมากขึ้น
4. การสูญเสียแร่ธาตุของชั้นเคลือบฟัน
ชั้นเคลือบฟันเต็มไปด้วยแร่ธาตุ ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความแข็งแรงมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุสำคัญๆ สามารถถูกสลายออกมาได้ในสภาวะที่เป็นกรด หรือที่เราเรียกว่า Demineralization ซึ่งกรดในช่องปากสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยของฟันผุในข้ออื่นๆ ที่กล่าวมา และเมื่อสูญเสียแร่ธาตไป โครงสร้างของชั้นเคลือบฟันก็จะอ่อนแอลง และง่ายต่อการผุกร่อนมากขึ้น
5. บทบาทของน้ำลาย
น้ำลายน้อย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ เนื่องจากน้ำลายช่วยปรับสภาวะความเป็นกรดในช่องปากให้กลับสู่สมดุล และช่วดูดซึมแร่ธาตุกลับเข้าไปยังชั้นเคลือบฟัน ถือเป็นกลไกของร่างกายที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ตามธรรมชาติ แต่เมื่อน้ำลายน้อย ความเป็นกรดในช่องปากสูงขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดช่องโพรงในฟันนั่นเอง
- โรคหรือภาวะที่ทำให้ปริมาณน้ำลายลดลงนั้นมีมากมาย เช่น
- การรับประทานยาบางชนิด (ยาจิตเวช, ยาลดความดัน, ยาแก้แพ้)
- ดื่มน้ำน้อย
- โรคทางระบบ เช่น เบาหวาน, ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้นกันตนเอง, การฉายแสงในบริเวณใบหน้า ลำคอ ช่องปาก
- การสูบบุหรี่ ทั้งแบบธรรมดา และแบบไฟฟ้า
- อื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น ความเครียด ประจำเดือน
6. รักษาสุขอนามัยช่องปากไม่ดี
- ไม่เพียงพอ – คุณควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนนอน อย่างไรก็ตามหากคุณทานขนมที่หวานมากๆ หรืออาหารที่เหนียวๆ การแปรงฟันเพิ่มก็จะช่วยกำจัดเศษอาหาร และแบคทีเรีย สามารถลดโอกาสเกิดฟันผุลงได้ หากคุณแปรงฟันไม่สะอาดก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ
- ไม่ถูกวิธี – คุณควรเอาใจใส่ เทคนิคในการแปรงฟัน รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากให้เหมาะสม ฟันผุอาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าคุณจะแปรงฟันบ่อยๆ หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- การแปรงฟันที่แรงเกินไป การแปรงไม่ทั่วถึง แปรงฟันไม่สะอาด
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง หรือมีขนาดไม่เหมาะสมกับช่องปาก (เล็กไป/ใหญ่ไป)
- ไม่ตรวจสอบให้ดีว่ายาสีฟันที่ใช้เป็นประจำมีฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมหรือไม่
- ไม่สามารถทำได้ – เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น พาร์กินสัน Stroke อัลไซเมอร์ อาจไม่สามารถรักษาสุขภาพช่องปากด้วยตัวเองได้ กรณีนี้ควรได้รับการดูแลโดยผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
7. ปัจจัยอื่นๆ
- งานวิจัยพบว่า บุคคลในกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือการศึกษาต่ำมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุที่สูงกว่า
- น้ำบริโภคที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูง เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันตกกระ ซึ่งส่งผลให้ผิวเคลือบฟันไม่แข็งแรง และนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียชั้นเคลือบฟัน และเกิดฟันผุได้ง่าย ทั้งนี้น้ำดื่ม และน้ำประปาในประเทศไทยหลายพื้นที่มีฟลูออไรด์ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคฟันผุได้ อย่างไรก็ตามในบางประเทศ หรือบางพื้นที่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น
เสียวฟัน
ผู้ที่มีปัญหาโรคฟันผุจะมีอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เย็นจัด
ฟันเปลี่ยนสี
บริเวณที่เกิดฟันผุอาจมีสีที่เปลี่ยนไปได้เช่น ฟันเหลืองเข้ม สีขาว สีน้ำตาลหรือดำ ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียแร่ธาตุในชั้นเคลือบฟัน
ปวดฟัน
โรคทางทันตกรรมหลายอย่างสามารถทำให้เกิดอาการปวดฟันได้ รวมถึงฟันผุด้วย และมักเป็นอาการที่พาคนไข้มาพบคุณหมอ อย่างไรก็ตาม โรคฟันผุที่มีอาการปวดมักเป็นช่องโพรงในฟันที่มีขนาดใหญ่ หรือลึกค่อนข้างมาก คุณจึงไม่ควรรอให้มีอาการปวดก่อน จึงค่อยมาพบทันตแพทย์
ฟันเป็นโพรง หรือรู
แน่นอนว่าเมื่อฟันผุลึกมากชึ้น คุณสามารถมองเห็นรูที่ฟันได้ชัดเจน หรือมีช่องโพรงในฟันขนาดใหญ่
ปวดขณะเคี้ยว
เมื่อฟันผุลึกถึงเนื้อฟัน หรือโพรงประสาทฟัน ที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง คุณอาจมีอาการปวดฟันขณะเคี้ยว ซึ่งเป็นตอนที่ระบบประสาทโดนกระตุ้นด้วยแรงกดดัน
การอักเสบ ติดเชื้อ
มักพบในผู้ที่มีปัญหาโรคฟันผุที่เป็นรุนแรง แบคทีเรียอาจก่อให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อไปนอกเหนือตัวฟันได้ ทำให้เกิด เหงือกบวม เป็นหนอง เลือดออกได้ง่าย
อาการอื่นๆ
นอกจากอาการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ เช่น กลิ่นปาก การรับรสผิดปกติ หรือฟันเหลืองเพราะการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
ความรุนแรงของฟันผุ
ฟันผุแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความลึก และขนาด ดังนี้
1. ระดับเริ่มต้น
ในระยะเริ่มต้น ผิวฟันจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเทา หรือสีดำ ซึ่งเกิดจากกรดที่ถูกผลิตมาจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์สลายแร่ธาตุจากในชั้นเคลือบฟันออกมา
ฟันผุระยะแรกหากดูแลดีๆ ก็สามารถหายได้โดยไม่ต้องได้รับการอุดฟัน โดยคุณจะต้องหมั่นดูแลความสะอาดในช่องปากเป็นอย่างดี รวมถึงจำเป็นต้องใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
2. ระดับปานกลาง
เมื่อฟันผุในระยะเริ่มต้นไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ฟันจะผุลึกลงไปยังชั้นเนื้อฟัน โดยในระยะนี้คุณอาจเริ่มต้นมีอาการต่างๆ เช่น กลิ่นปาก, เสียวฟัน, ปวดฟัน และเมื่อฟันผุถึงเนื้อฟัน จะไม่สามารถหายเองได้ คุณหมอจำเป็นต้องกรอฟันที่ผุออก และอุดฟัน
3. ระดับรุนแรง
เป็นระยะที่ฟันผุทะลุโพรงประสาท ซึ่งเป็นชั้นในสุดของฟัน และเป็นเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิต เมื่อถูกทำลาย คุณอาจมีอาการปวดฟันมากๆ มีเหงือกบวม อักเสบ เป็นหนอง หรือฟอร์มตัวเป็นโพรงฝีได้
เมื่อโรคฟันผุจนถึงระดับรุนแรง คุณหมอจะต้องประเมินว่าสามารถเก็บฟันธรรมชาติไว้ได้ด้วยการรักษารากฟันหรือไม่ หากโครงสร้างของฟันถูกทำลายไปมาก และไม่คุ้มค่าที่จะบูรณะ คุณอาจต้องถอนฟันออก และเข้ารับการทดแทนฟันด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำรากฟันเทียม การทำสะพานฟัน หรือฟันปลอม
ฟันผุ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
โรคฟันผุ ปัญหาเล็กที่ไม่เล็กอย่างที่คิด เพราะหากรีบไม่รักษา เชื้อแบคทีเรียจากฟันผุจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น
- โรคหัวใจ เชื้อแบคทีเรียกระจายไปตามหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนเข้ามหัวใจได้น้อย
- โรคปอดติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรียลงสู่ปอด อาจทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อได้️
- โรคเบาหวาน เชื้อแบคทีเรียอาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
การรักษาโรคฟันผุ
โรคฟันผุเป็นปัญหาทางทันตกรรมที่พบได้บ่อยและไม่ควรละเลย เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษา อาจลุกลามจนทำให้เกิดการติดเชื้อที่รากฟัน จนส่งผลให้เกิดอาการปวดรุนแรง จนต้องสูญเสียฟันในที่สุด การรักษาโรคฟันผุมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ซึ่งทันตแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคและช่วยฟื้นฟูสุขภาพฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ วันนี้คุณหมอธนิตย์ วนิชนพรัตน์จะชวนทุกคนไปดูว่าการรักษาโรคฟันผุมีอะไรบ้าง
การให้ฟลูออไรด์ และติดตามอาการ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการฟันผุในระยะแรก ซึ่งอาการที่พบได้ในระยะนี้คือผิวฟันเปลี่ยนสีไปจากเดิม โดยจะเริ่มมีสีเทา ๆ สีดำ หรือสีขาวขุ่น เกิดจากการสูญเสียแร่ธาตุในชั้นเคลือบฟัน ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาอาการโรคฟันผุในระยะแรกด้วยการให้ฟลูออไรด์โดยการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อช่วยให้เกิดการดูดซึมแร่ธาตุกลับคืนเข้าสู่ชั้นเคลือบฟันได้ ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการรักษาความสะอาดของสุขภาพช่องปากควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามมากขึ้น
รวมถึงต้องมีการติดตามผลการรักษากับทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินการรักษาอาการฟันผุว่าการใช้ฟลูออไรด์นั้นได้ผลหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถการันตีได้ว่าการใช้ฟลูออไรด์เพียงอย่างเดียวจะสามารถหยุดยั้งฟันผุได้ ดังนั้นควรมาตรวจกับทันตแพทย์ตามนัด
การอุดฟัน
เมื่อฟันเริ่มผุจนเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม กรดจากแบคทีเรียจะกัดกร่อนเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเห็นชัดเจน และอาจมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อน-เย็น เมื่อฟันผุเข้าระยะนี้ทันตแพทย์จะรักษาฟันผุด้วยการอุดฟัน การรักษาจะเริ่มจากการกรอเนื้อฟันที่ผุออก และอุดด้วยวัสดุอุดฟัน เช่น Amalgam หรือ Composite Resin ซึ่งจะช่วยป้องกันการลุกลามของฟันผุ ช่วยให้ฟันกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง หากผุหลายด้านหรือในพื้นที่ลึก การรักษาจะซับซ้อนและใช้เวลามากขึ้น
การรักษารากฟัน
เมื่อฟันผุรุนแรงจนลุกลามลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน การอุดฟันจะไม่สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการอักเสบและติดเชื้อของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ซึ่งไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการอุดฟันเพียงอย่างเดียว
ทันตแพทย์จึงจำเป็นต้องรักษารากฟัน โดยเริ่มจากการขูดหินปูน เคลียร์ช่องปากก่อน หลังจากนั้นจะกรอเปิดชั้นครอบฟัน เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกให้หมด แล้วจึงบูรณะฟันด้วยการครอบฟัน การรักษานี้ต้องพบ
ทันตแพทย์หลายครั้งและควรดำเนินการโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษารากฟัน และควรต้องทำโดยคุณหมอที่เป็นทันตแพทย์เฉพาะทางด้านรักษารากฟัน (Endodontist)
การถอนฟัน
การถอนฟันถือเป็นการรักษาฟันผุทางเลือกสุดท้ายที่ทันตแพทย์จะเลือกใช้ เมื่อประเมินแล้วว่าอาการฟันผุมีความรุนแรงมาก ฟันได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนโครงสร้างฟันถูกทำลายเกินกว่าจะบูรณะด้วยวิธีอื่นได้ หรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทันตแพทย์จะพิจารณาถอนฟันออกเพื่อป้องกันการลุกลามของการติดเชื้อไปยังบริเวณอื่น หลังการถอนฟัน ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีทดแทนฟันได้หลายวิธี เช่น การฝังรากฟันเทียม การทำสะพานฟัน หรือการใส่ฟันปลอมถอดได้
การเคลือบหลุมร่องฟัน
การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นการรักษาเชิงป้องกันฟันผุที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่องฟันลึก ซึ่งยากต่อการทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันตามปกติ ทันตแพทย์จะใช้วัสดุพิเศษที่มีลักษณะคล้ายเรซินเหลวมาเคลือบปิดร่องฟันที่ลึก โดยเฉพาะในฟันกราม เพื่อป้องกันไม่ให้เศษอาหารเข้าไปติดค้างและก่อให้เกิดฟันผุในภายหลัง วิธีนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้
รักษาฟันผุราคาเท่าไหร่
ราคารักษาฟันผุแต่ละรายการ ขึ้นอยู่กับคลินิก อย่างที่ Smile Seasons มีอัตราค่าบริการ ดังนี้
- อุดฟัน สีโลหะ ราคาเริ่มต้น 900 บาท
- อุดฟัน สีเหมือนฟัน ราคาเริ่มต้น 1,000 บาท
- รักษารากฟัน ราคาเริ่มต้น 8,000 บาท
- ถอนฟัน ราคาเริ่มต้น 1,000 บาท
ดูอัตราค่าบริการเพิ่มเติม
การป้องกันฟันผุ
มื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะเห็นแล้วว่าโรคฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษานั้นสามารถนำไปสู่ปัญหาทางทันตกรรมอื่นๆ ตามมาได้ การป้องกันฟันผุจึงเป็นสิ่งที่คุณหมออยากให้คุณทำความเข้าใจและปฎิบัติตาม หากอยากห่างไกลฟันผุ และมีสุขภาพฟันที่ดี มีรอยยิ้มที่สวยงาม นี่คือคำแนะนำของคุณหมอ
แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และถูกวิธี
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งตอนเช้า และก่อนนอน หากรับประทานอาหาร หรือขนมที่หวาน หรือมีน้ำตาลมาก คุณควรแปรงฟันเพิ่มเติม อย่าลืมเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสม และมีขนแปรงที่นุ่ม ไม่ทำอันตรายต่อเหงือก ในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแปรงฟัน คุณควรเข้ามามีส่วนช่วย กำกับควบคุมการแปรงฟันด้วยเสมอ
การใช้ไหมขัดฟันก่อนนอน
ไหมขัดฟันไม่ใช่ Option เสริม แต่เป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นมากๆ ในการดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดี ปลอดจากฟันผุ เพราะเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ ในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะใต้เหงือกไม่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยการแปรงฟันธรรมดา
น้ำยาบ้วนปาก
น้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุได้ อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำยาบ้วนปากไม่สามารถทดแทนการทำความสะอาดด้วยการแปรงฟัน และการใช้ไหมขัดฟันได้ ฉะนั้นถึงแม้จะใช้น้ำยาบ้วนปาก แต่คุณก็ยังต้องแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอยู่
ทานอาหารให้เหมาะสม
เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำร้ายชั้นเคลือบฟัน เช่น อาหารเปรี้ยว รสจัดที่มีความเป็นกรดสูง, น้ำอัดลม, ขนม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและแป้งสูง
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
อย่าลืมดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ ภาวะขาดน้ำ จะทำให้ลดปริมาณของน้ำลายลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันฟันผุ
ลด เลิกบุหรี่
สารในบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดา หรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณโดยรวม
พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำจะทำให้คุณหมอสามารถมองเห็นฟันผุตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และรีบจัดการรักษา การได้เคลือบฟลูออไรด์ หรือเคลือบหลุมร่องฟันก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันให้ฟันของคุณห่างไกลจากโรคฟันผุ
สรุปเกี่ยวกับฟันผุ
ฟันผุเป็นหนึ่งในปัญหาทันตกรรมที่พบได้บ่อยมาก มีสาเหตุหลักมาจากแบคทีเรีย ทำปฏิกิริยากับคาร์โบไฮเดตรที่พบในขนมหวาน แป้ง หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงๆ จนเกิดกรดมาทำร้ายชั้นเคลือบฟัน โรคฟันผุในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการ สามารถรักษาได้ด้วยการเคลือบฟลูออไรด์ และการรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ฟันที่ผุลึกมากขึ้นอาจต้องได้รับการอุดฟัน การรักษารากฟัน จนถึงการถอนฟัน
การป้องกันฟันผุถือเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด สามารถทำได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในช่องปาก เลือกรับประทานอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงขนมหวาน อาหารรสเปรี้ยวจัด ดื่มน้ำระหว่างวันให้เพียงพอ เลิกบุหรี่ และมาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
อ้างอิง
- Tooth Decay
- https://www.nidcr.nih.gov/health-info/tooth-decay#treatment
- Cavities and tooth decay
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/diagnosis-treatment/drc-20352898
- Cavities
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10946-cavities#management-and-treatment
- Tooth Cavities
- https://www.healthline.com/find-care/articles/dentists/tooth-cavities
กังวลเกี่ยวกับฟันผุ? ปรึกษาคุณหมอเลย!
หากคุณกำลังหาคลินิกทันตกรรมมาดูแลตัวเอง และครอบครัว Smile Seasons มีคุณหมอที่เอาใจใส่พร้อมจะดูแลสุขภาพช่องปาก และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ให้คุณมีรอยยิ้มสวย และสุขภาพดีกันทั้งบ้าน คุณสามารถติดต่อสอบถามหรือทำนัดกับเจ้าหน้าที่ของเราได้ที่
Facebook : smileseasons.dc
Line : @smileseasons.dc
E-mail : smileseasons.dc@gmail.com
Tel : 02-114-3274