ข้อควรรู้ ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด เจ็บไหม ราคาเท่าไหร่ เตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม? ผ่าฟันคุดจำเป็นไหม? ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่? ผ่าฟันคุดเจ็บไหม? คำถามยอดฮิตที่คนไข้หลายคนอยากรู้ คุณหมอจะมาอธิบายให้ฟังว่าฟันคุดเจ้าปัญหานี้คืออะไร ต้องถอนฟันคุดอักเสบ หรือผ่าออกหรือไม่ ถ้าอยู่ดีๆ เกิดปวดฟันคุดขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร – ใครที่กำลังอยากรู้เรื่องฟันคุด บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
ฟันคุด (Wisdom Teeth) คืออะไร
- ฟันคุด หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Wisdom tooth เป็นฟันกรามซี่สุดท้าย (ซี่ที่ 3) ซึ่งปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงอายุ 20 ต้น
- คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ (ด้านบนซ้าย บนขวา ล่างซ้าย ล่างขวา)
- หากขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอให้ฟันคุดขึ้นได้ตามปกติ หรือฟันคุดขึ้นในตำแหน่งและมุมที่ไปชนกับฟันซี่อื่น ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
- ฟันคุดอาจทำให้เกิดเหงือกและอวัยวะโดยรอบอักเสบ หรือติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดฟันคุดหรือฟันคุดอักเสบได้
- นอกจากนั้นฟันคุดยังทำความสะอาดได้ยาก คุณหมอจึงมักแนะนำให้ผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดออกถึงแม้จะไม่มีอาการปวดฟันคุดก็ตาม
ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
เมื่อฟันคุดก่อให้เกิดการอักเสบ หรือสร้างปัญหาทันตกรรมอื่นๆ คุณหมอจะแนะนำให้จัดการกับฟันคุด โดยวิธีการรักษาคือการผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุดนั่นเอง ซึ่งแต่ละแบบมีความแตกต่าง ความยากง่าย ผ่าฟันคุด ราคาค่ารักษาก็ไม่เท่ากัน รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นก็แตกต่างกันด้วย
ผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุด คือการรักษาฟันคุดในกรณีที่ฟันคุดซี่นั้นยังอยู่ใต้เหงือก หรือโผล่พ้นเหงือกมาแล้วแต่ขึ้นไม่หมดทั้งซี่ การผ่าฟันคุดจะมีความซับซ้อน ใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า ส่วนใหญ่ต้องมาการเย็บปิดบาดแผล และคุณต้องเข้ามาตัดไหมตามนัดของคุณหมอ
ถอนฟันคุด
การถอนฟันคุด คือการรักษาฟันคุดในกรณีฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่เรียบร้อยแล้ว การถอนฟันคุดใช้เวลา และมีค่ารักษาน้อยกว่า รวมทั้งมักไม่ต้องเย็บแผลด้วย
บางคนอาจจะสงสัยว่าถอนฟันคุด กับ ถอนฟันปกติทั่วไป แตกต่างกันหรือไม่ ลองมาหาคำตอบของคำถามที่คุณสงสัยในบทความ ถอนฟัน จากทันตแพทย์เพิ่มเติมได้ที่นี่!
สาเหตุของการเกิดฟันคุด
นักโบราณคดีเชื่อว่าในสมัยโบราณ บรรพบุรุษของมนุษย์ใช้ฟันชุดนี้ ในการเคี้ยวอาหารที่เหนียว และแข็งมากๆ เช่น ถั่ว ราก/ใบไม้ และธัญพืช เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น อาหารของเราได้รับการปรุงให้รับประทานง่าย ขนาดของกระดูกขากรรไกรจึงเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ฟันคุดซึ่งเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นได้อย่างปกติ จนเป็นสาเหตุที่เราต้องมาผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดกันในทุกวันนี้
ลักษณะ และ รูปแบบการขึ้นของฟันคุด
ฟันคุดมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะ และมุมของฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้
1. ฟันคุดหันเข้าหาฟันข้างเคียง (Mesial impaction)
ฟันคุดจะมีลักษณะทำมุมเอียง และดันฟันกรามซี่ข้างเคียงจากทางด้านหน้า มีชื่อเรียกอื่นว่า Angular หรือ Mesioangular impaction ลักษณะฟันคุดแบบนี้จะพบได้บ่อยที่สุด และมักขึ้นมาไม่เต็มซี่
2. ฟันคุดในลักษณะแนวเอียง (Distal impaction)
เป็นลักษณะฟันคุดที่พบไม่บ่อย และเรียงตัวในทิศตรงข้ามกับ Mesial นั่นคือ ฟันคุดจะเอียงไปด้านหลังที่ไม่มีฟันอยู่ ทำให้หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งและมุมที่ไม่เอียงมาก จะมีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากคุณมีฟันคุดแบบนี้ คุณอาจจะไม่ต้องผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด หรือในบางกรณี คุณหมออาจจะรอติดตามไปสัก 1-2 ปีก่อนจะตัดสินใจว่าต้องผ่าหรือไม่
3. ฟันคุดที่ขึ้นในลักษณะแนวตั้ง (Vertical impaction)
ฟันคุดแบบนี้จะตั้งตรงในมุมปกติไม่เอียงไปดันฟันซี่ข้างเคียง ถือเป็นฟันคุดประเภทที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เพราะมีโอกาสสูงที่จะสามารถขึ้นมาได้ตามปกติโดยไม่ต้องผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด
4. ฟันคุดในลักษณะแนวนอน (Horizontal impaction)
ฟันคุดจะเรียงตัวในตำแหน่งแนวนอน ถือเป็นฟันคุดที่เอาออกยากที่สุด ใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวมากที่สุด ฉะนั้นคุณควรได้รับการรักษาจากคุณหมอฟันเฉพาะทางด้านศัลยกรรม
ฟันคุดมีกี่ซี่
คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันคุดบน 2 ซี่ และฟันคุดล่าง 2 ซี่ โดยฟันคุดจะขึ้นบริเวณมุมปากด้านในของช่องปาก โดยทั่วไปจะขึ้นในช่วงอายุ 17-25 ปี อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีฟันคุดเลย หรือมีมากกว่า 4 ซี่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดของขากรรไกร ความผิดปกติของฟัน หรือพันธุกรรม
อาการฟันคุดแบบไหนที่ควรผ่าฟันคุด
ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดมักโผล่ขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 17-25 ปี) คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือบางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดตึง อักเสบ และอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก เนื่องจากเป็นโรคปริทันต์
- เหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้ม หรือกราม ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ หรือติดเชื้อ
- ปวดบริเวณขากรรไกร
- ฟันผุ เนื่องจากการแปรงฟัน และการใช้ไหมจัดฟันยากกว่าปกติ
- การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ เพราะเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณที่ทำความสะอาดยาก
- อ้าปากลำบาก / เจ็บเวลาอ้าปาก กรณีอาการบวมอักเสบลุกลามออกมานอกช่องปาก
หากคุณมีอาการดังกล่าวคุณอาจจำเป็นต้องผ่าฟันคุดโดยเร็วเพื่อป้องกันการลุกลามใหญ่โตของปัญหาทางทันตกรรมที่เกิดขึ้น
เราควรผ่าฟันคุดหรือไม่
คุณไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดทุกซี่ เหตุผลหลักที่คุณหมอจะแนะนำให้คุณต้องผ่าฟันคุด คือฟันคุดซี่นั้นทำความสะอาดได้ยาก มีความเสี่ยงกับการอักเสบ และติดเชื้อในภายหลัง
การผ่าตัดในช่วงอายุ 18-25 ปี สามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย รู้แบบนี้แล้ว อย่ารีรอรีบผ่าออกแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่เกิดผลเสียภายหลัง
ข้อบ่งชี้สำหรับการถอนหรือผ่าฟันคุดที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ฟันคุดซี่นั้นเคย หรือกำลังก่อให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อ
- ฟันคุดเรียงตัวผิดปกติ
- ฟันคุดไม่มีฟันคู่สบด้านบน หรือล่าง หรือฟันคุดนั้นทำให้การสบฟันผิดปกติ
- ฟันคุดขึ้นมาแค่บางส่วนไม่เต็มซี่
ฟันคุดแบบไหนไม่ต้องผ่า
ผ่าฟันคุด อันตรายไหม
อันตรายจากการผ่าฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อยู่ลึกมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะทำให้การผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ซึ่งอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เลือดออก ภาวะ Dry Socket การอักเสบติดเชื้อ และการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท
อย่างไรก็ตาม คุณหมอไม่อยากให้คุณกังวลจนเกินไป หากคุณหมอแนะนำให้คุณผ่าฟันคุดนั่นแปลว่า คุณหมอพิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อคุณ และถึงแม้จะเกิดผลข้างเคียงขึ้น ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ และเป็นอยู่ชั่วคราว
ผ่าฟันคุด อันตรายไหม
อันตรายจากการผ่าฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อยู่ลึกมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะทำให้การผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม คุณหมอไม่อยากให้คุณกังวลจนเกินไป หากคุณหมอแนะนำให้คุณผ่าฟันคุดนั่นแปลว่าคุณหมอพิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อคุณ และถึงแม้จะเกิดผลข้างเคียงขึ้น ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ และเป็นอยู่ชั่วคราว
อันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เลือดออก ภาวะ Dry Socket การอักเสบติดเชื้อ และการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ผ่าฟันคุด
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด คือ
- เหงือกที่คลุมฟันคุดอักเสบ เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนจะมีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย แต่ทำความสะอาดได้ยากส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสม ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองได้ หากทิ้งไว้ การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- ฟันผุ จากการที่ฟันคุดและฟันกรามซี่ที่ 2 อยู่ชิดกันในลักษณะที่ผิดปกตินี้ ทำให้ทำความสะอาดยาก เศษอาหารติดค้างจึงทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
- กระดูกละลาย จากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบๆ รากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
- เกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ฟันคุดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดถุงน้ำ และยังสามารถขยายขนาดจนทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกบริเวณรอบๆ
- กลิ่นปาก เหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้างสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ฟันคุดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คุณมีกลิ่นปาก ซึ่งทำให้คุณเสียบุคลิกภาพ
ผ่าฟันคุดเจ็บไหม
หากคุณกำลังกังวลว่าผ่าฟันคุดเจ็บไหม – การผ่าฟันคุดไม่เจ็บมากอย่างที่คิด เพราะคุณหมอจะฉีดยาชาให้ก่อนทำการผ่าฟันคุด ดังนั้น คุณจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยตอนคุณหมอฉีดยาชาให้ หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกแค่ตึงๆ นิดหน่อยเท่านั้น แต่หลังจากที่ยาชาหมดฤทธิ์ อาจมีอาการปวดอยู่บ้าง โดยคุณหมอจะให้ยาแก้ปวดกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถือว่าน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ความเจ็บปวด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฟันคุดซี่นั้นมีปัญหา
ผ่าฟันคุดกี่วันหายเจ็บ หายบวม
- หนึ่งในคำถามที่คุณหมอมักได้รับคือ ผ่าฟันคุดบวมกี่วัน ผ่าฟันคุดกี่วันหาย
- การถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด จะใช้เวลาหายประมาณ 1 อาทิตย์
- หลังผ่าฟันคุดเหงือกบวมได้ประมาณ 2-3 วันแรก คุณอาจมีอาการปวด ทำให้รับประทานอาหารลำบาก หากเป็นไปได้เราแนะนำให้คุณหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อคุณรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และแผลเริ่มหาย อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น
- หากคุณหมอเย็บแผลเอาไว้ คุณจะต้องมาตัดไหมตามนัดที่ประมาณ 7-10 วันหลังจากผ่าฟันคุด
ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่
การผ่าฟันคุด ราคาจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยดังนี้
- ตำแหน่งของฟันคุด ฟันคุดที่อยู่ลึกในกระดูกขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ตามปกติ ซึ่งทำให้การผ่าฟันคุดใช้ระยะเวลานาน และมีความซับซ้อนมากกว่า
- การวางตัวของฟันคุด ฟันคุดที่วางตัวกลับหัว หรือพาดอยู่ใกล้เคียงกับฟันกรามซี่อื่นนั้นต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มเติมในการรักษา
- มีผลข้างเคียง ฟันคุดที่มีเหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ อาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยยา หรือหัตถการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากขึ้น
- ทันตแพทย์ผู้รักษา หากเคสของคุณเป็นฟันคุดที่มีความซับซ้อน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าออกได้ยาก คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ฉะนั้น ถ้าคุณหมอฟันของคุณส่งต่อเคสของคุณให้คุณหมอศัลยกรรม ค่ารักษาของคุณก็อาจจะสูงขึ้น
- คลินิกทันตกรรม ที่คุณเข้ารับการรักษา แน่นอนว่าอัตราค่าบริการของแต่ละคลินิกย่อมไม่เท่ากัน การผ่าฟันคุณราคาโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกกว่า แต่ก็ต้องแลกกับการรอคิวที่ยาวนาน นอกจากนี้หากคุณมีสิทธิประกันสังคม คุณสามารถใช้สิทธิเบิก 900 บ. และชำระส่วนต่างค่ารักษาได้ ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยคุณสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลค่ารักษากับเราได้ตลอดเวลา
สำหรับอัตราค่าบริการผ่าฟันคุดที่ Smile Seasons จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
- ผ่าฟันคุดแบบปกติ ราคา 2,800-5,000 บาท
- ผ่าฟันคุดยากผิดปกติ / ฟันฝัง ราคา 5,500-8,000 บาท
เตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด
1. ลางาน ลาเรียน ล่วงหน้า
หลังจากผ่าฟันคุด คุณอาจจะยังรู้สึกปวด บวม และในบางครั้งยาชาอาจออกฤทธิ์ได้ถึง 12-24 ชม. ฉะนั้นคุณควรพักผ่อนอย่างน้อย 1-2 วันที่บ้านให้หายดีก่อนกับไปเรียน หรือทำงาน
2. นั่งแท็กซี่ หรือหาคนมาส่ง
หลังผ่าฟันคุด คุณอาจจะรู้สึกตึง และอยากพัก คงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากคุณต้องขับรถกลับบ้านเองทั้งอย่างนั้น คุณหมอแนะนำให้ มีคนขับรถมารับส่งคุณ หรือใช้บริการแท็กซี่จะดีกว่า
3. กินยาตามคำแนะนำ
ก่อนผ่าฟันคุด คุณควร ‘หยุดยา’ หรือ ‘กินยา’ บางตัวตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด คุณควรบอกประวัติการรับประทานยาทั้งหมดของคุณ ให้คุณหมอทราบ โดยเฉพาะยาที่รบกวนการแข็งตัวของเลือด
4. ซื้ออาหารอ่อนๆ มาเตรียมไว้
อาการปวดตึงหลังผ่าฟันคุดมักเป็นอยู่ 1-2 วัน และคุณอาจรู้สึกไม่อยากออกไปไหน จึงเป็นการดีกว่าถ้าคุณจะเตรียมอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้โดยไม่ต้องออกแรงเคี้ยวมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม พุดดิ้ง ซุป หรือโยเกิร์ต
5. คำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม ก่อนผ่าฟันคุด
- นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 8 ชม. ก่อนผ่าฟันคุด
- สวมใส่ชุดสบายๆ ไม่รัด ถ้าคุณผมยาว คุณหมอแนะนำให้รวดมัดผมไว้ด้านหลังให้เรียบร้อย
- หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทาลิปสติก
- เตรียม Series เรื่องโปรด หรือเกมส์ที่เล่นค้างอยู่เอาไว้ คุณจะได้พัก 1-2 วัน ใช้เวลานี้ให้คุ้มค่า
ขั้นตอนการผ่าฟันคุด
- ตรวจวัดความดันโลหิต – หากคุณมีโรคประจำตัว หรืออายุมาก คุณหมอจะขอให้คุณวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด ความดันโลหิตที่สูงมากอาจส่งผลให้เลือดออกได้มากผิดปกติ และเป็นอันตรายได้ หากตรวจพบคุณหมออาจเลื่อนนัดผ่าฟันคุดของคุณออกไปก่อน จนกว่าจะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
- ฉีดยาชา – ก่อนถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด คุณหมอจะฉีดยาชาให้กับคุณ และตรวจสอบว่ายาชาออกฤทธิ์ได้ดีแล้วก่อนเริ่มขั้นตอนถัดไป ซึ่งหลังจากนี้คุณจะแค่รู้สึกตึงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องกังวล
- เปิดช่องบนเหงือก – เพื่อเข้าถึงฟันคุดที่ยังไม่โผล่ขึ้นมา หรือโผล่ขึ้นมาไม่เต็มที่ คุณหมอจะตัดเปิดช่องบนเหงือกเพื่อเข้าถึงฟันคุดซี่ที่ต้องการผ่าออก
- เอาฟันคุดออก – คุณหมออาจจำเป็นต้องกรอกระดูกออกเล็กน้อย และตัดฟันคุดออกเป็นชิ้นที่เล็กลงเพื่อให้เอาออกได้ง่ายขึ้น ในขั้นตอนนี้คุณจะรู้สึกตึงเล็กน้อย ระหว่างที่คุณหมอกำลังโยกเพื่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมในการถอนฟันคุดออก
- ล้างแผล และเย็บปิด – หลังฟันคุดถูกเอาออกไปหมดแล้ว คุณหมอจะล้างแผล และใช้ไหมเย็บปิดบาดแผล รวมทั้งเช็คว่าไม่มีเลือดออกแล้วก่อนจะให้คำแนะนำคุณเพิ่มเติม พร้อมกับจ่ายยาให้คุณกลับไปรับประทาน คุณจะมีนัดตัดไหมอีกครั้งในอีก 7-10 วัน
ผ่าฟันคุดนานไหม ใช้เวลาเท่าไหร่ ?
ผ่าฟันคุดนานไหม? การผ่าฟันคุดโดยปกติใช้เวลาประมาณ 20-45 นาที ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเคส อย่างไรก็ตามการผ่าฟันคุดที่ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ไม่ใช่เรื่องที่พบเจอไม่ได้ บางครั้งคุณหมอประเมินจากการตรวจช่องปาก และเอ็กซเรย์ แล้วดูเป็นเคสที่ไม่ซับซ้อน แต่เอาเข้าจริงพอเปิดเข้าไป อาจมีความยากที่ซ่อนอยู่ก็ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าฟันคุด
- เลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
- มีไข้ หรือการติดเชื้อหลังจากการผ่าฟันคุด
- ริมฝีปากชานานผิดปกติ
- Dry Socket คือภาวะที่ลิ่มเลือดที่คลุมบริเวณแผลผ่าตัดหลุดออกไป ซึ่งจะทำให้กระดูกไม่มีอะไรมาปกคลุมและเกิดอาการปวดขึ้นมาได้
- เกิดความเสียหายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรืออวัยวะโดยรอบ เช่น กระดูกขากรรไกร หรือไซนัส
อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก และสามารถแก้ไขได้โดยการกลับไปพบคุณหมอ คุณจึงไม่ควรกังวลมากจนไม่ยอมผ่าฟันคุดออก เพราะคุณหมอคิดว่าการเก็บฟันคุดที่มีข้อบ่งชี้ในการเอาออกนั้น เป็นอันตรายกับตัวคุณมากกว่า
หลังผ่าฟันคุดกิน และ ห้ามกิน อะไรบ้าง ?
หลังผ่าฟันคุดสามารถกินอะไรได้บ้าง?
เป็นเรื่องสำคัญที่หลังผ่าฟันคุดแล้วคุณควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่ต้องเคี้ยว นี่คืออาหารที่เราแนะนำ
- ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม – อาหารจำพวกนี้เป็นทางเลือกที่ดีเพราะกลืนง่าย และให้สารอาหารรวมถึงโปรตีนที่เพียงพอ และเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของแผล
- สมูตตี้ – สมูตตี้สามารถทำจากผักและผลไม้ที่คุณชื่นชอบ ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินสำคัญๆ ที่คุณควรได้รับ
- โยเกิร์ต – โยเกิร์ตนั้นอุดมไปด้วยโปรตีน และแคลเซียม แถมเวลาทานอะไรเย็นๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้นิดหน่อยด้วย
- ไข่กวน, ไข่ตุ๋น – ไข่เป็นอาหารที่ปรุงง่าย และมีอยู่แทบทุกครัวเรือน ถือเป็นอีกหนึ่งโปรตีนที่มีประโยชน์ซึ่งคุณควรได้รับ
หลังผ่าฟันคุดห้ามกินอะไรบ้าง?
หลังผ่าฟันคุดคุณควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้
- อาหารที่แข็ง หรือกรอบๆ – ยกตัวอย่างเช่น ป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วต่างๆ ลูกอมแข็งๆ เศษอาหารเหล่านี้สามารถไปติดอยู่ในแผลผ่าฟันคุดได้โดยง่าย และทำให้เกิดการระคายเคือง เลือดออกซ้ำ รวมทั้งรบกวนกระบวนการหายของแผลด้วย
- อาหารที่เหนียวมาก – คาราเมล ท็อฟฟี่ หมากฝรั่ง อาหารที่เหนียวจะดูดลิ่มเลือดบริเวณปากแผลผ่าฟันคุดให้หลุดออกได้ ลิ่มเลือดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือดเป็นอย่างมาก หากหลุดออกอาจทำให้เลือดออกซ้ำใหม่ได้
- อาหารรสจัด – เช่น อาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวมาก เนื่องจากไประคายเคืองแผลผ่าฟันคุดได
- แอลกอฮอล์ – เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการหายของแผลผ่าฟันคุด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และภาวะกระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket)
ข้อปฎิบัติตัวหลังผ่าฟันคุด
เลือดออก
- กัดผ้าก็อซอย่างต่อเนื่องให้แน่นเป็นเวลาอย่างน้อย 30-45 นาที หากยังมีเลือดซึม ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซแล้วกัดต่ออีก 30-45 นาที คุณอาจจะต้องเปลี่ยนผ้าก๊อซถึง 3-4 ครั้งกว่าเลือดจะหยุดสนิท ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- ห้ามรบกวนบริเวณแผล – ห้ามใช้ลิ้นหรือสิ่งอื่น ดุนหรือแตะแผล และห้ามดูดน้ำลายหรือเลือดจากผ้าก๊อซ เนื่องจากลิ่มเลือดที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนแข็งตัวของเลือดอาจจะหลุดออก และทำให้เลือดบริเวณแผลไม่หยุดไหล
- อย่าบ้วนน้ำ น้ำลาย หรือเลือด ระหว่างกัดก๊อซ ให้กลืนลงคอได้เลย
- ส่วนใหญ่ เลือดควรจะหยุดภายในเวลา 60-90 นาที แต่คนไข้บางรายอาจมีเลือดออกซึมได้เล็กน้อยถึง 4-6 ชม. หากหลังจากนั้นคุณยังมีเลือดออกมาก หรือคุณมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น หน้ามืด จะเป็นลม ใจหวิว ใจสั่น กรุณาติดต่อเรา
ความปวด
หลังผ่าฟันคุด คุณสามารถรับประทานยาแก้ปวด Paracetamol ทุก 4-6 ชม. ได้ หากคุณยังปวดมากคุณสามารถทานยาแก้ปวด Ibuprofen เพิ่ม *กรุณาตรวจสอบ วิธีการรับประทานยาให้ตรงตามข้อมูลซึ่งปรากฎอยู่บนซองยา กรณีที่คุณมีประวัติแพ้ยา คุณหมออาจจ่ายยาประเภท/กลุ่มอื่นให้คุณรับประทาน กรุณาปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
บวม ช้ำ
- แก้มของคุณอาจบวม (บวมมากที่สุด 2-3 วันหลังผ่าฟันคุด) ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- คุณสามารถใช้ถุงซิปล๊อคใส่น้ำแข็ง หรือ Cold Pack ห่อผ้า และประคบข้างแก้ม 20 นาที พัก 5 นาที และทำซ้ำใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อลดบวม และช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้นใน 24 ชม. แรก
- หลังจาก 24 ชม. ถ้าคุณมีรอยช้ำ หรือยังปวดตึงอยู่ คุณสามารถเปลี่ยนเป็นประคบด้วยน้ำอุ่น โดยทำเหมือนกันกับการประคบเย็น (ห้ามใช้น้ำเดือด หรือ ประคบถุงอุ่นโดยตรงกับผิวหนัง ให้ห่อด้วยผ้าทุกครั้ง)
อาหาร
- คุณควรดื่มน้ำปริมาณมากขึ้น อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงที่คุณยังรับประทานอาหารได้ไม่เหมือนเดิม แต่หลีกเลี่ยงการใช้หลอดเพราะทำให้เลือดไหลได้
- รับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนใน 2-3 วันแรก
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่เย็นจัด ร้อนจัด ใน 2-3 วันแรก
การรักษาความสะอาด
- หากเลือดหยุดดี คุณสามารถแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงการรบกวนบริเวณแผลผ่าฟันคุด กรุณาบ้วนน้ำเบาๆ งดใช้น้ำยาบ้วนปากในช่วงอาทิตย์นี้
- วันที่ 2 คุณสามารถกลั้วปากเบาๆ ด้วยน้ำเกลืออุ่น วันละ 4-6 ครั้ง (ผสม หรือนำน้ำ 1 แก้ว ใส่ไมโครเวฟให้พออุ่น ใส่เกลือ 1/4 ช้อนชา คนให้เข้ากัน) ทำเช่นนี้ไปประมาณ 4-5 วัน
- หากคุณหมอจ่ายน้ำยาบ้วนปาก Chlorhexidine คุณสามารถใช้แทนน้ำเกลืออุ่น
ข้อแนะนำอื่นๆ
- งดออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันหลังผ่าฟันคุด เนื่องจากคุณทานอาหารได้น้อย และได้รับแคลอรี่น้อยกว่าปกติ ทำให้คุณเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และอาจมีอาการ เพลีย หน้ามืด หรือวิงเวียน
- ห้ามสูบบุหรี่ อย่างน้อย 1 อาทิตย์ เนื่องจากบุหรี่นั้นรบกวนกระบวนการหายของแผล
- คุณอาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ ได้ใน 24-48 ชม. แรก ซึ่งเป็นการตอบสนองปกติของร่างกาย หากหลัง 48 ชม. คุณยังมีไข้ หรือคุณมีไข้สูง หนาวสั่น กรุณาติดต่อเรา
- คุณอาจรู้สึกเจ็บคอ ตึงบริเวณขากรรไกร อ้าปากได้ไม่สุด ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย หลังผ่าตัดฟันคุด และอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง
- ริมฝีปากคุณอาจแห้งในช่วงนี้ การใช้ Lips Balm / Moisture จะช่วยคุณได้
- หากคุณหมอจ่ายยาปฎิชีวนะให้เพิ่มเติม กรุณารับประทานจนหมดตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
ผ่าฟัดคุด ถอนฟันคุดที่ไหนดี
การผ่าฟันคุดถือเป็นการผ่าตัดทางทันตกรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์ของคุณหมอ ถึงแม้ว่าคุณหมอฟันทั่วไปจะสามารถผ่าฟันคุดได้ แต่หากฟันคุดของคุณมีความซับซ้อน หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงได้สูง การได้ผ่ากับคุณหมอเฉพาะทางก็จะทำให้คุณอุ่นใจได้ว่า คุณจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ
ข้อดีของการผ่าฟันคุดกับ Smile Seasons
- มีคุณหมอเฉพาะทาง – Smile Seasons มีคุณหมอเฉพาะทางทุกสาขา รวมทั้งศัลยแพทย์ประจำคลินิก ไม่ว่าฟันคุดของคุณจะง่ายหรือซับซ้อน คุณสามารถวางใจได้ว่าคุณจะได้รับการรักษาที่ดีจากทีมคุณหมอของเรา
- ให้ข้อมูลที่ดีและเพียงพอ – เราเน้นการให้ความรู้ที่ดีกับคนไข้ทุกคนของเรา เมื่อคุณทราบวิธีการการเตรียมตัว และข้อปฎิบัติทั้งก่อนและหลังผ่าฟันคุด คุณก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และฟื้นตัวด้วยความรวดเร็ว
- เครื่องมือทันสมัย และสะอาด – การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด ความสะอาดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ของเราได้ผ่านการฆ่าเชื้อตามมาตรฐานทางการแพทย์
- ติดต่อง่าย – แน่นอนว่าหลังผ่าฟันคุดไป คุณอาจมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง คุณสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับคำแนะนำได้ตลอดเวลา
ทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าและถอนฟันคุด
ทีมทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จในการผ่าฟันคุด เราขอแนะนำทีมคุณหมอศัลยกรรมของเรา
ดูรายชื่อทันตแพทย์ผู้เชี่ยชาญด้านผ่าและถอนฟันคุดทั้งหมดได้ที่ รายชื่อทันตแพทย์
อ.ทพญ.กนกพร สันตะวาลิ้ม
หมอโอ๋
- ปริญญาโทสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.สงขลานครินทร์
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.มหิดล
- อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
- ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล (เกียรตินิยมอันดับ 2)
ทพญ.อ้อมกร บุณยประทีปรัตน์
หมอหงส์
- วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ทันตแพทยสภา
- ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
ทพญ.พิมพ์จุฑา ใจทา
หมอทีค
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.มหิดล
- ทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (เกียรตินิยมอันดับ 2)
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ของการผ่าฟันคุด
ผ่าฟันคุดนานไหมกว่าจะหายบวมกี่วัน เลือดซึมกี่วัน
ปกติแล้วเลือดควรจะหยุดภายใน 3-4 ชม. หลังจากนั้นคุณอาจรู้สึกบวมหรือปวดไปอีก 2-3 วัน และเมื่อตัดไหมที่ 7-10 วัน ก็ถือว่าคุณหายจากการผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว
ผ่าฟันคุด เหงือกเป็นรู เศษอาหารติด ทำอย่างไร
หลังผ่าฟันคุด เหงือกของคุณอาจเป็นรู หรือเป็นหลุมลงไป หากมีเศษอาหารติด ห้ามเอาอะไรไปแหย่อย่างเด็ดขาด ให้คุณบ้วนน้ำ หรือฉีดล้างเบาๆ ด้วยน้ำเกลือ
ปวดฟันคุดกี่วันหาย ผ่าฟันคุดปวดเป็นเดือน ผิดปกติไหม
โดยปกติแล้วอาการปวดควรจะหายไปในช่วง 5-7 วัน อาการปวดหลังผ่าฟันคุดไปเป็นเดือนถือเป็นเรื่องผิดปกติ คุณควรติดต่อคลินิกเพื่อทำนัดเข้าไปตรวจเช็คกับคุณหมอ
หลังผ่าฟันคุดต้องกินอะไรถึงจะหายเร็ว
หลังผ่าฟันคุดคุณสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ ถึงแม้จะไม่มีอาหารประเภทใดที่ทำให้แผลหายได้เร็ว แต่ในช่วง 2-3 วันแรกเราแนะนำให้คุณเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ จะได้ไม่ไปรบกวนแผลผ่าตัด หลังจากนั้นเพียงเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติก็เพียงพอ
ก่อนจัดฟันต้องผ่าฟันคุดไหม
ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าฟันคุด กรณีที่คุณจัดฟัน หรือตัดสินใจว่ากำลังจะจัดฟัน – อุปกรณ์จัดฟันถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำความสะอาดช่องปาก รวมทั้งฟันคุดอาจไปดันฟันซี่ข้างเคียงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนตำแหน่งของฟันซี่อื่นได้ตามแผนการจัดฟัน อ่านบทความ จัดฟัน เพิ่มเติมได้ที่นี่
ควรผ่าฟันคุดตอนอายุเท่าไหร่?
ช่วงอายุ 18-25 ปี เพราะสามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย ดังนั้นหากตรวจพบสามารถผ่าออกได้ทันที แม้จะยังโผล่ไม่พ้นเหงือก ก่อนจะเกิดผลเสียตามมาภายหลัง
มีกลิ่นปากหลังผ่าฟันคุดเป็นเรื่องปกติไหม?
กลิ่นปากอาจเกิดจากการไม่กล้าทำความสะอาด เนื่องจากเป็นแผลอยู่ ทำให้เศษอาหารตกค้าง ดังนั้นควรรักษาช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ตามปกติ และบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น
ทั้งนี้หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แผลปวด บวม แดง มีเลือด หรือหนองไหล ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ เพราะอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้
สรุปเรื่องผ่าฟันคุด
- ฟันคุดเป็นฟันกรามซี่ที่ 3 ที่ไม่โผล่พ้นเหงือก หรือโผล่มาไม่เต็มซี่ มีหลายประเภทตามการทิศทางการเรียงตัว
- สามารถก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ติดเชื้อ ฟันผุ หรือถุงน้ำในกระดูกได้
- ฟันคุดส่วนใหญ่ควรได้รับการถอน หรือผ่าฟันคุด ราคาในการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อนของฟันคุด ผลข้างเคียงที่พบได้คือ เลือดออก บวมอักเสบ ปวด และ dry socket
- คุณควรเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังผ่าฟันคุดตามคำแนะนำจากคุณหมอ
- หากคุณกำลังอยากผ่าฟันคุด หรือมีคำถาม คุณสามารถติดต่อเพื่อรับคำแนะนำจากเราได้ทันที
- Wisdom tooth removal – How it’s performed., Available from: https://www.nhs.uk/conditions/wisdom-tooth-removal/what-happens/
- Wisdom Teeth Removal: What Adults Should Expect., Available from: https://www.webmd.com/oral-health/wisdom-teeth-adult
- Wisdom tooth removal., Available from: https://www.nhs.uk/conditions/wisdom-tooth-removal/
- Wisdom Teeth Removal: Is It Necessary?., Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22119-wisdom-teeth-removal
บทความโดย
ทพญ.กรรวี เขียวเจริญ
วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ทันตแพทยสภา
ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
ติดต่อเจ้าหน้าที่
อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการตอบคำถาม ข้อสงสัย ประเมินค่าใช้จ่าย ทำนัดปรึกษากับคุณหมอ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงกรอก ชื่อนามสกุล เบอร์โทร และ Email เจ้าหน้าที่ของเราจะรีบติดต่อกลับไปให้ข้อมูลคุณโดยเร็วที่สุด
โปรโมชั่นอื่นๆ
เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร
เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร การเกลารากฟัน หรือ Root Planing เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่พบได้บ่อย และสำคัญมาก มักเป็นหนึ่งในทางเลือกแรกของการรักษา โรคปริทันต์ และ โรคเหงือกอักเสบที่รุนแรง หากคุณหนึ่งในคนที่ได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ให้เกลารากฟัน ในบทความนี้คุณหมอจะมาอธิบาย ข้อบ่งชี้ ขั้นตอน ข้อควรระวัง และการดูแลตัวเองหลังเกลารากฟัน เกลารากฟันคืออะไร เกลารากฟัน (Root Planing) เป็นหัตถการทางทันตกรรมที่มุ่งเน้นการกำจัดคราบหินปูนและจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บริเวณใต้เหงือก ซึ่งแตกต่างจากการขูดหินปูนโดยทั่วไปที่เน้นการกำจัดหินปูนที่อยู่เหนือเหงือก
ทำความเข้าใจการปักสกรูเวลาจัดฟันคืออะไร
ทำความเข้าใจการปักสกรูเวลาจัดฟันคืออะไร การปักสกรูเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้จัดฟัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ได้ทำในทุกคน คุณหมอจะพิจารณาใช้วิธีการปักสกรูในคนไข้จัดฟันบางรายที่จำเป็นต้องใช้แรงดึงที่ซับซ้อนในการเคลื่อนตำแหน่งของฟันเท่านั้น แม้ว่าการปักสกรูจัดฟันจะฟังดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย ไม่ซับซ้อน และเจ็บน้อยกว่าที่คิด บทความนี้จะช่วยทุกคนไปทำความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องใช้การปักสกรูจัดฟัน หมุดจัดฟันคืออะไร หมุดจัดฟันหรือสกรูจัดฟัน (Orthodontic Mini-screws) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ทำจากโลหะไทเทเนียม มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่ก่อให้เกิดการแพ้ หมุดจัดฟันมีขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2-2 มิลลิเมตร และยาว 6-12 มิลลิเมตร
ใครจัดฟันต้องอ่าน เลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันอย่างไรให้เหมาะสม
ใครจัดฟันต้องอ่าน เลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันอย่างไรให้เหมาะสม การจัดฟันแบบติดแน่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาดช่องปาก เพราะเครื่องมือจัดฟันมักเป็นที่สะสมของเศษอาหารและแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย การเลือกแปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันให้มีความเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ที่ผู้จัดฟันควรให้ความใส่ใจ เพื่อให้สามารถทำความสะอาดช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันต่างจากแปรงสีฟันทั่วไปอย่างไร แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ โดยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากแปรงสีฟันทั่วไป ทั้งในด้านขนแปรงที่มีความนุ่มและความหนาแน่นพิเศษ พร้อมทั้งมีรูปทรงที่ออกแบบมาให้เข้าถึงซอกมุมรอบเครื่องมือจัดฟันได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ทำความสะอาดได้ทุกซอกมุม ที่สำคัญด้ามจับที่ออกแบบมาให้จับถนัดมือเพื่อให้ควบคุมแรงได้ดี ช่วยให้สามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึงโดยที่ไม่ทำลายเหงือกและฟัน ทำไมคนจัดฟันต้องใช้แปรงสีฟันพิเศษ? เครื่องมือจัดฟันที่ติดแน่นบนผิวฟันเป็นจุดที่เศษอาหารและคราบแบคทีเรียสะสมได้ง่าย แปรงสีฟันทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงซอกมุมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งขนแปรงที่แข็งเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเหงือกและทำลายผิวฟันได้ การใช้แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันจึงช่วยให้การทำความสะอาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ชวนหาคำตอบจัดฟันแล้วฟันผุเกิดจากอะไร
ชวนหาคำตอบจัดฟันแล้วฟันผุเกิดจากอะไร การจัดฟันเป็นทันตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาการเรียงตัวของฟันให้มีความสวยงามและมีการสบฟันที่เป็นปกติ แต่เนื่องจากการจัดฟันแบบติดแน่นต้องมีเครื่องมือจัดฟันอยู่บนฟันทุกซี่และไม่สามารถถอดออกได้ ทำให้การทำความสะอาดฟันทำได้ยากกว่าปกติ หากดูแลสุขภาพช่องปากได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาจัดฟันแล้วฟันผุตามมาได้ มาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้จัดฟันแล้วฟันผุมีอะไรบ้าง และมีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไร สาเหตุที่ทำให้จัดฟันแล้วฟันผุ การจัดฟันไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดฟันผุ แต่การจัดฟันแบบติดแน่นที่จำเป็นต้องติดเครื่องมือที่ฟัน ทำให้ส่งผลให้คราบอาหารเข้าไปติดได้ง่ายขึ้น จึงทำความสะอาดช่องปากได้ยากขึ้น ทั้งการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งถือเป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรีย หากทำความสะอาดได้ไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงให้จัดฟันแล้วฟันผุได้มากกว่าคนที่ไม่ได้จัดฟัน สัญญาณเตือนที่ควรระวังว่าอาจมีปัญหาจัดฟันแล้วฟันผุ ฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อยในผู้ที่จัดฟัน โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลความสะอาดช่องปากไม่ดีพอ มาดูกันว่ามีสัญญาณเตือนอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าคุณอาจกำลังมีปัญหาจัดฟันแล้วฟันผุ มีกลิ่นปาก
เปิดเทคนิคการเลือกแปรงสีฟันไฟฟ้าให้ตอบโจทย์
เปิดเทคนิคการเลือกแปรงสีฟันไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ ในปัจจุบัน แปรงสีฟันไฟฟ้าได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมาก และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมเลือกซื้อเพื่อมาดูแลรักษาสุขอนามัยช่องปากของตัวเอง แปรงสีฟันไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีไม่ต่างจากแปรงสีฟันโดยทั่วไป แต่ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าแล้วแปรงสีฟันไฟฟ้าดีกว่าจริงหรือไม่ คุ้มค่าไหมที่จะหาซื้อมาใช้ บทความนี้จะมาแนะนำแปรงสีฟันไฟฟ้าแบบต่างๆ พร้อมเทคนิคการเลือกซื้อแปรงสีฟันไฟฟ้าให้เหมาะกับคุณ พร้อมทั้งแนะนำ ประเภท คุณสมบัติ และวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้ว่าแปรงสีฟันไฟฟ้าเหมาะกับการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณหรือไม่ แปรงสีฟันไฟฟ้า คืออะไร แปรงสีฟันไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟัน โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือการชาร์จไฟ เพื่อขับเคลื่อนหัวแปรงให้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถขจัดคราบพลัคและเศษอาหารได้ดีกว่าแปรงสีฟันธรรมดา แปรงสีฟันไฟฟ้ามักมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ระบบจับเวลา โหมดการทำงานหลากหลาย
เปิดสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วทอนซิล พร้อมแชร์วิธีรักษานิ่วทอนซิล
เปิดสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วทอนซิล พร้อมแชร์วิธีรักษานิ่วทอนซิล นิ่วทอนซิลเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้ไม่บ่อยนัก มักเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก แม้จะไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ บทความนี้ Smile Seasons จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ สาเหตุการเกิดนิ่วทอนซิล อาการ และวิธีรักษานิ่วทอนซิลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นิ่วทอนซิลคืออะไร นิ่วทอนซิล หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Tonsil Stones หรือ Tonsilloliths คือ ก้อนสีขาวเหลืองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามซอกของต่อมทอนซิล ซึ่งก้อนเหล่านี้เกิดจากการสะสมของเศษอาหาร